เกษตรกรที่มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดเล็ก และขนาดกลางที่มีเงินทุนพอสมควรและมีความรู้ทางด้านอาหารสัตว์น้ำบ้าง ก็สามารถที่จะทำการผลิตอาหารสัตว์น้ำสำเร็จรูปขึ้นใช้ได้เอง ในรูปแบบของอาหารเม็ดจมน้ำชนิดเปียกและแห้ง โดยใช้เครื่องมือในการผลิตที่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาด อีกทั้งราคาก็ไม่แพงมากนัก ส่วนการทำอาหารลอบน้ำต้องใช้เงินลงทุนสูงในการซื้อเครื่องทำอาหารลอยน้ำโดยเฉพาะ เพราะการที่จะทำให้อาหารลอยน้ำได้นั้นต้องใช้ระบบความร้อน และความกดดันภายในเครื่องสุงมาก เครื่องทำอาหารแบบธรรมดาจึงทำอาหารลอยน้ำไม่ได้ในที่นี้จะกล่าวถึงการทำอาหารเม็ดจมน้ำเท่านั้น
ขั้นตอนการทำอาหารสัตว์น้ำสำเร็จรูปแบบพื้นบ้าน มีขั้นตอนดังนี้
สูตรอาหาร -----> การบด -----> การชั่ง -----> การผสม -----> การอัดเม็ด -----> การทำให้แห้ง
สูตรอาหาร
สิ่งแรกที่เกษตรกรจะคิดทำอาหารสำเร็จรูปขึ้นใช้เองนั้น คือจะต้องรู้ว่าตนเองต้องการใช้สูตรอาหารใดเลี้ยงสัตว์น้ำของตนเอง สูตรอาหารที่ดีมีข้อสังเกต ดังนี้
1. ทำให้สัตว์น้ำมีการเจริญเติบโตเร็ว แข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคดี
2. ทำให้สัตว์น้ำมีอัตราการแลกเนื้อที่ดี และอัตรารอดสูง
3. วัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้สามารถจัดซื้อหาได้ง่าย ราคาถูก และสะดวกต่อการเก็บรักษา การที่เกษตรกรจะได้มาซึ่งสูตรอาหารที่ดีมีอยู่ 2 ทางด้วยกัน คือ
3.1 สอบถามจากผุ้มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่เร็วที่สุด หน่วยงานของราชการโดยเฉพาะกองควบคุมและพัฒนาอาหารสัตว์น้ำ กรมประมง สามารถให้คำแนะนำในเรื่องสูตรอาหารได้ ตัวอย่างสูตรอาหารสำหรับปลานิล ปลาดุก ปลาสวาย ปลากินพืช กุ้งก้ามกราม ปลาทะเล ปลากะพง ปลากะรัง และกุ้งทะเล
3.2 เรียนรู้และศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ชอบคิดค้นและหาคำตอบด้วยประสบการณ์ของตนเอง
การบด
เมื่อได้สูตรอาหารที่จะทำแล้ว ก็ต้องเตรียมจัดหาวัตถุดิบต่างๆ ที่จะต้องใช้ให้ครบสูตรอาหารและมีปริมาณเพียงพอที่จะทำการผลิตวัตถุดิบที่มีขนาดใหญ่ จะต้องผ่านขั้นตอนการบด วัตถุประสงค์เพิ่มลดขนาดของวัตถุดิบให้เล็กลงเป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำสามารถที่จะย่อยได้ง่ายขึ้น การบดละเอียดยังช่วยในเรื่องการอัดเม็ดโดยช่วยให้เม็ดอาหารมีความคงตัวดี สำหรับเครื่องบดอาหารที่ใช้ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของวัตถุดิบ ถ้าใช้วัตถุดิบแบบแห่ง เช่น ปลายข้าว กากถั่วเหลือง ข้าวโพด ก็ให้ใช้เครื่องบดแบบมีดสับหรือแบบจาน แต่ถ้าเป็นวัตถุดิบแบบเปียก เช่น ปลาเป็ด โครงไก่ ไส้ไก่ หัวไก่ ก็ให้ใช้เครื่องโม่ปลาหรือเครื่องบดเนื้อ
การชั่ง
เมื่อได้จัดเตรียมวัตถุดิบต่างๆ ที่มีขนาดละเอียดแต่ละชนิดแล้วก็จะทำการชั่งน้ำหนักของวัตถุดิบให้ได้ตามสัดส่วนในสูตรอาหารนั้น
การผสม
เป็นการกระจายคุณค่าอาหารให้สม่ำเสมอในทุกส่วนของอาหารที่ทำขึ้นโดยการทำให้วัตถุดิบหลายชนิดรวมกันเป็นเนื้อเดียว เครื่องผสมอาหารที่แนะนำให้ใช้ควรเป็นเครื่องผสมอาหารที่ใช้ผสมได้ทั้งวัตถุดิบเปียกและแห้ง เครื่องผสมดังกล่าวเป็นเครื่องผสมแบบแนวนอน ซึ่งถ้าหาไม่ได้ก็อาจใช้เครื่องโม่ปลาหรือเครื่องบดเนื้อแทนได้ หรืออาจผสมเองด้วยมือหรือพลั่วก็ได้
ในกรณีที่ใช้วัตถุดิบแห้งจะต้องเติมน้ำประมาณ 30-40% ของสูตรอาหารแล้วผสมให้เข้ากันดีก่อนที่จะทำการอัดเม็ด แต่ถ้าใช้วัตถุดิบแบบเปียกการผสมอาหารอาจจะไม่ต้องเติมน้ำเลยหรืออาจเติมน้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้นในวัตถุดิบทั้งหมดในสูตรนั้นๆ
การอัดเม็ด
เป็นการทำให้อาหารที่ผสมกันแล้วถูกอัดออกมาเป็นเส้นหรือเป็นแท่ง การอัดเม็ดเป็นการทำให้คุณค่าอาหารจากวัตถุดิบทุกชนิดจับตัวกันอยู่ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยเมื่อสัมผัสกับน้ำ การอัดเม็ดสามารถทำได้โดยใช้เครื่องโม่ปลาหรือเครื่องบดเนื้อ
การทำให้แห้ง
เป็นขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการทำอาหารแห้งเท่านั้น เพื่อลดความชื้นในอาหารลงและสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ขึ้นรา การทำให้อาหารแห้งสามารถทำได้โดยการเกลี่ยอาหารให้เป็นชั้นบางๆ บนพื้นซีเมนต์หรือตะแกรง แล้วใช้พัดลดหรือตากแดด ความชื้นในอาหารจะระเหยออกไป อาหารที่ได้จะเป็นอาหารเม็ดจมน้ำชนิดแห้ง
การทำอาหารสัตว์น้ำสำเร็จรูปขึ้นเองภายในฟาร์ม จะต้องคำนึงถึงคุณภาพและราคาของอาหาร อาหารที่มีคุณภาพดีควรมีโภชนะครบถ้วนใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสุง ซึ่งทำให้สัตว์น้ำย่อยได้ดี และปลอดจากสารพิษ นอกจากนี้ราคาไม่ควรแพงมากจนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงเกินไป
สัตว์น้ำต้องการโภชนะจากอาหารประมาณ 40 ชนิด ซึ่งประกอบด้วย
1. โปรตีนและกรดอะมิโน (กรดอะมิโนที่จำเป็นที่มีในอาหารมีประมาณ 10 ชนิด)
2. สารจำเป็นที่มาจากไขมัน (กรดไขมันที่จำเป็น ฟอสโฟลิปิดและสเตอรัล)
3. พลังงาน (โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต)
4. วิตามิน (ละลายน้ำ 11 ชนิด และละลายในไขมัน 4 ชนิด)
5. แร่ธาตุ (10 ชนิด)
เมื่อทราบว่าสัตว์น้ำแต่ละชนิดต้องการโภชนะอะไรบ้างก็จำเป็นต้องจัดหาโภชนะเหล่านั้นให้แก่สัตว์น้ำอย่างครบถ้วน โภชนะเหล่านี้ได้จากวัตถุดิบ ที่นำมาทำเป็นอาหารสัตว์น้ำนั่นเอง วัตถุดิบมีมากมายหลายชนิดซึ่งมีคุณภาพแตกต่างกันทั้งในด้านคุณค่าอาหารและการย่อยได้ วัตถุดิบสามารถแบ่งออกได้ 5 ประเภทใหญ่ๆ คือ
วัตถุดิบที่ใช้เป็นแหล่งโปรตีน
วัตถุดิบประเภทนี้ต้องมีโปรตีนมากกว่า 20% สามารถแบ่งออกได้ 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ
1. แหล่งโปรตีนจากสัตว์ ได้แก่ ปลาป่น ปลาสด เลือดป่น ขนไก่ป่น เนื้อกระดูกป่น กุ้งป่น เศษไก่ป่น ไส้ไก่ หัวไก่ ปูป่น ผลิตภัณฑ์จากนม ฯลฯ
2. แหล่งโปรตีนจากพืช ได้แก่ กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากเม็ดฝ้าย กากมะพร้าวอัด กากงา กากองุ่น ใบกระถินป่น โปรตีนสกัดเข้มข้นจากข้าวโพดจากข้าวสาลี ฯลฯ
วัตถุดิบที่ใช้เป็นแหล่งพลังงาน
วัตถุดิบประเภทนี้มีโปรตีนต่ำกว่า 20% แต่มีคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งสูง ได้แก่ เมล็ดและผลิตภัณฑ์ของเมล็ดธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวโอ้ต และรำของเมล็ดธัญพืช โปรตีนของวัตถุดิบเหล่านี้มีค่าระหว่าง 8-12% มีแป้งในปริมาณสูงถึง 60-80% และไขมันมีค่าระหว่าง 1-8%
ข้อพึงสังเกตของวัตถุดิบประเภทนี้น่าสนใจคือ มีคุณสมบัติเป็นตัวประสานอาหารเข้าด้วยกันหรือใช้เป็นสารเหนียว (บายเดอร์)วัตถุดิบจำพวกวิตามินและแร่ธาตุ
วิตามินและแร่ธาตุที่ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารมักอยู่ในรูปสารประกอบเคมี และเนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในปริมาณน้อยมากในสูตรอาหาร จึงทำให้เกิดปัญหาในการผสมให้ทั่วถึงในทุกๆ ส่วน ดังนั้น จึงไม่นิยมผสมวิตามินและแร่ธาตุแต่ละตัวลงในอาหารโดยตรง วิตามินและแร่ธาตุจึงมักูกผสมไว้ก่อนล่วงหน้ากับสื่อบางชนิด เช่น กากถั่วเหลือง รำ แกลบบด หรือหินปุน แล้วเรียกสารผสมเหล่านี้ว่า "สารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์)" บางครั้งเรียกว่า "อาหารเสริม" แล้วจึงนำสารผสมล่วงหน้านี้ไปผสมกับอาหารต่อไป ในบางท้องที่ที่เกษตรกรหาซื้อสารผสมล่วงหน้าที่ใช้เฉพาะสำหรับสัตว์น้ำไม่ได้ ก็อาจใช้สารผสมล่วงหน้าที่ทำขึ้นเพื่อผสมกับอาหารหมูหรือไก่แทนได้ แต่อย่างไรก็ตามในสารผสมล่วงหน้าที่ใช้สำหรับสัตว์บก มักจะมีวิตามินดีสูงเกินไป และอาจไม่มีวิตามินซีในส่วนผสม ซึ่งวิตามินซีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสัตว์น้ำทุกชนิด ดังนั้นจึงควรที่จะใช้เป็นหลักในการพิจารณาเลือกซื้อ
วัตถุดิบจำพวกไขมัน หรือน้ำมัน
เป็นวัตถุดิบที่ใช้พลังงาน กรดไขมันที่จำเป็น วิตามินที่ละลายในไขมันและบางครั้งใช้เป็นสารแต่งกลิ่นอาหารเพื่อกระตุ้นให้สัตว์น้ำกินอาหารได้มากขึ้น
น้ำมันที่ใช้ผสมอาหารสัตว์น้ำ แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ
1. น้ำมันจากสัตว์ ได้แก่ น้ำมันปลา น้ำมันปลาหมึก น้ำมันหมู ฯลฯ
2. น้ำมันพืช ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันเมล็ดทานตะวัน ฯลฯ
วัตถุดิบจำพวกเสริมคุณภาพของอาหาร
วัตถุดิบจำพวกนี้ใช้ผสมในอาหารเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร ถึงแม้ว่าบางครั้งใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเสริมคุณภาพแต่ตัวมันเองมีคุณค่าอาหารอยู่ด้วย วัตถุดิบจำพวกนี้แบ่งออกได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. สารเหนียวหรือบายเดอร์หรือสารประสานอาหาร เป็นสารที่ช่วยทำให้อาการคงทนในน้ำได้นาน การใช้สารเหนียวมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำอาหารสำหรับสัตว์น้ำที่กินอาหารช้าๆ เช่น กุ้ง สารเหนียวสามารถแบ่งออกได้ 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ เป็นสารพวกโปรตีน สารพวกคาร์โบไฮเดรต และสารสังเคราะห์ หรือสารธรรมชาติที่ไม่มีคุณค่าทางอาหาร
2. เป็นสารที่ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสของอาหารให้มีความน่ากินมากขึ้นกลิ่นในอาหารที่สัตว์น้ำชอบมักเป็นกลิ่นที่มีในอาหารตามธรรมชาติของมัน เช่น ปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร จะชอบกลิ่นของเนื้อกุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก ฯลฯ ซึ่งกลิ่นเหล่านี้สามารถหาได้จากเศษชิ้นส่วนหรือผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปแล้วของสัตว์ต่างๆ ดังกล่าว เช่น น้ำมันปลา น้ำมันปลาหมึก หัวและเปลือกของกุ้งป่น เศษปลาหมึกป่น ตับวัวป่น ฯลฯ
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น