Home » » การเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน

การเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน


ปลาบึก MEKONG  GIANT  CATFISH

            ปลาบึกเป็นปลาไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด  ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ  3  เมตร  มีน้ำหนักมากกว่า  250   กิโลกรัม   พบเฉพาะในแม่น้ำโขง  และแม่น้ำสาขาเท่านั้น ปลาบึกถูกจัดเป็นปลาชนิดที่มีจำนวนน้อยใกล้สูญพันธุ์  [Endangered  species]  ชื่อซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไป คือ Mekong giant catfish  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Pangasianodon  gigas  เป็นปลาที่กินพืชเป็นอาหาร  ไม่มีฟันทั้งที่ขากรรไกรและเพดานปาก  สำหรับแหล่งจับปลาบึกที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย  อยู่ที่บ้านหาดไคร้  ตำบลเวียง   อำเภอเชียงของ   ฤดูจับปลาบึกของชาวประมง  จะเริ่มต้นประมาณปลายเดือนเมษายนของทุกปี จนถึงต้นเดือนมิถุนายน โดยใช้เครื่องมือมองไหล ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึก  และเพื่อเพิ่มปริมาณปลาบึกในแหล่งน้ำธรรมชาติ  กรมประมงจึงได้พยายามดำเนินการเพาะขยายพันธุ์  จนประสบผลสำเร็จครั้งแรกในปี  พ.ศ. 2526  ซึ่งจากความสำเร็จดังกล่าวทำให้การศึกษาทางอนุกรมวิธานของปลาบึกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  และทำให้ทราบว่าลูกปลาบึกมีลักษณะหลาย ๆ ประการที่แตกต่างไปจากปลาที่โตเต็มวัย  เช่นมีฟันบนขากรรไกร  และเพดานปาก  และจะหลุดร่วงไปหมดเมื่อโตเต็มวัย  ได้มีการนำพันธุ์ปลาบึกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ  เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจและติดตาม  ทำให้ทราบว่าปลาบึกสามารถเจริญเติบโตในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ปีละประมาณ  10 – 12  กิโลกรัม

     


การเพาะพันธุ์ปลาบึกในบ่อดิน


           กรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกโดยใช้พ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขง ในปี 2526  จากนั้นได้ทำการศึกษาวิจัยปลาบึกรุ่นลูก (F1)  โดยเลี้ยงในบ่อดินเพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา จนมีความสมบูรณ์เพศ นำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้เป็นครั้งแรกในปี 2543 จึงได้ทำการทดลองเพาะพันธุ์ ซึ่งประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในครั้งนั้นสามารถรีดไข่จากท้องแม่ปลาบึกได้ประมาณ  100  กรัม  สำหรับพ่อปลาบึกรีดน้ำเชื้อได้ปริมาณมาก แต่ไข่ปลาที่ได้รับการผสมจาก น้ำเชื้อพัฒนาไปได้ระดับหนึ่งเท่านั้น และไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวปลาได้ จากประสบการณ์และแนวทางในการเพาะพันธุ์ปลาบึกในคราวนั้น ทำให้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาบึกในปี 2544  โดยสามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกได้ จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544  แม่ปลาน้ำหนัก 54 กิโลกรัม และพ่อปลาน้ำหนัก 41 กิโลกรัม ได้ลูกปลาบึกรุ่นแรก จำนวน 9 ตัว ขณะนี้เหลือรอดเพียง 1 ตัว ถือว่าเป็นปลาบึกตัวแรกที่เพาะพันธุ์ได้สำเร็จ (ปลาบึกรุ่นหลาน F2) โดยใช้เวลารอคอยนานถึง 18 ปี การเพาะพันธุ์ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 แม่ปลามีน้ำหนัก 54 กิโลกรัม พ่อปลาน้ำหนัก 60 กิโลกรัม รีดไข่จากแม่ปลาได้ไข่น้ำหนัก 1,200 กรัม น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 656 ฟอง ได้ไข่ปลา 787,200 ฟอง ไข่ได้รับการผสม 558,940 ฟอง (71.0%) ได้ลูกปลา 441,176 ตัว (อัตรารอด 56.04%) เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วัน เหลือลูกปลาจำนวน  330,250  ตัว (41.95%) ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 แม่ปลามีน้ำหนัก 47 กิโลกรัม พ่อปลาหนัก 40 กิโลกรัม ทำการเพาะพันธุ์และรีดไข่ได้ 743 กรัม น้ำหนักไข่ 1 กรัม นับได้ 506 ฟอง ได้ไข่ปลา 375,958  ฟอง ไข่ได้รับการผสม 242,004 ฟอง (64.37%) เมื่อลูกปลามีอายุ 3 วัน เหลือลูกปลาจำนวน  70,000  ตัว (18.62 %)  ขณะนี้เหลือลูกปลาจากการเพาะพันธุ์ครั้งที่ 2 จำนวน 60,000 ตัว และเหลือจากการเพาะพันธุ์ครั้งที่ 3 จำนวน 10,000 ตัว ลูกปลามีขนาด 5-7 นิ้ว และกรมประมงได้สั่งการให้กระจายลูกปลาไป 4 ภาค ทั้งประเทศ เพื่อปล่อยแหล่งน้ำและจำหน่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง โดยภาคใต้มีจุดรวมปลาอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฏร์ธานี  ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น  ภาคตะวันออกอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดชลบุรี  ภาคกลางอยู่ที่ศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดพระนครศรีอยุธยา  ภาคเหนืออยู่ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดพะเยา  และสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดเชียงราย  นอกจากนี้กรมประมงได้ส่งลูกปลาชุดนี้ไปเลี้ยงยังสถานีประมงทุกแห่งทั่วประเทศ แห่งละ 50 ตัว และศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืด แห่งละ 100 ตัว เพื่อเลี้ยงให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ในรุ่นต่อไป


ลักษณะทั่วไปของปลาบึก  (Morphology)


                    ปลาบึกเป็นปลาขนาดใหญ่  มีรูปร่างเพรียวขาวแบนข้างเล็กน้อย  ลูกปลาบึกขนาดเล็กมีสีคล้ำเหลือบเหลือง  ข้างลำตัวมีแถบสีคล้ำตามยาว  1 – 2 แถบ  ครีบหางตอนบนและล่างมีแถบสีคล้ำตามยาว  ในปลาขนาดใหญ่ด้านหลังของลำตัวจะมีสีเทาอมน้ำตาลแดง  ด้านข้างเป็นสีเทาปนน้ำเงินและจางกว่าด้านหลัง  เมื่อค่อนลงมาทางท้องสีจะจางลงเรื่อย ๆ จนเป็นสีขาวเงิน  ตามลำตัวมีจุดสีดำค่อนข้างกลมกระจ่ายอยู่ห่าง ๆ กันเกือบทั่วตัว
                    บริเวณจงอยปากมีรูจมูก  2  คู่  ตั้งอยู่บนริมผีปากทางด้านข้างจงอยปาก  คู่หน้าอยู่ชิดกันมากกว่าคู่หลัง  นัยตาของปลาบึกมีขนาดเล็กอยู่เป็นอิสระไม่ติดกับขอบตามีเส้นผ่านศูนย์กลาง  1  ใน  20  เท่า  ของความยาวหัว  ตำแหน่งของนัยตาอยู่ต่ำกว่าระดับมุมปาก  ลูกตามีหนังบาง ๆ คลุมด้านขอบเล็กน้อยเปิดเป็นช่องรูปกลมที่กึ่งกลางกะโหลกมีจุดสีขาวขนาดเดียวกับตา  1  จุด
                    ครีบหลัง  มีสีเทาปนดำ  จุดเริ่มต้นของครีบหลังอยู่ล้ำหน้าจุดเริ่มต้นของครีบท้อง  แต่ไม่ถึงกึ่งกลางของลำตัว  ก้านครีบแข็งเป็นเงี่ยงแต่สั้นและทู่ลงเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น
                    ครีบอก  มีสีเทาปนดำอยู่ค่อนข้างต่ำ  ประกอบด้วยก้านครีบแข็งใหญ่  1  อัน  ซึ่งปลายโค้งงอได้ไม่แข็งเป็นเงี่ยง  หรือหยักเป็นฟันเลื่อย  ก้านครีบอ่อนมีจำนวน  10  อัน  ความยาวครีบอกมีขนาดเท่าหรือเกือบเท่ากับความยาวครีบหลัง  คือมีความยาวครึ่งหนึ่งของหัว
                   ครีบท้อง  มีสีเทาอ่อน  มีก้านครีบโค้งงอได้  1  อัน  มีก้านครีบอ่อนจำนวน  7  อัน
                   ครีบก้น  มีสีเทาอ่อน  มีก้านครีบแข็งที่โค้งงอได้  5  อัน  ก้านครีบอ่อน  29 – 32  อัน
                   ครีบไขมัน  มีสีเทาปนดำ  มีขนาดเล็กอยู่ค่อนไปทางครีบหาง
                   ครีบหาง  มีสีเทาปนดำ  ขนาดอ่อนข้างสั้นเว้าลึก  ส่วนของแพนหางบนและล่างมีขนาดเท่ากัน

ถิ่นที่อยู่อาศัย
                    ปลาบึกชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีระดับน้ำลึกกว่าสิบเมตร  พื้นท้องน้ำเต็มไปด้วยก้อนหินและโขดหินสลับซับซ้อนกัน  ยิ่งมีถ้ำใต้น้ำด้วยแล้วปลาบึกจะชอบมากที่สุด  ปลาบึกขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในระดับน้ำที่ลึกอาศัยถ้ำใต้น้ำเป็นที่หลบซ่อนตัว  นอกจากนี้ยังได้ตะไคร่น้ำที่ขึ้นตามโขดหินกินเป็นอาหาร
                     ปลาบึกมีเฉพาะในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น  แม้ว่าบางครั้งอาจจับปลาบึกได้จากแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง  เช่น  แม่น้ำสงคราม  จังหวัดนครพนม  แม่น้ำมูล  จังหวัดอุบลราชธานี   แม่น้ำงึมแขวงนครเวียงจันทร์  ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ปลาที่จับได้เชื่อแน่ว่าเป็นปลาที่เข้าไปหากินในลำน้ำเป็นการชั่วคราว  ปลาบึกอาศัยในแม่น้ำโขงนับตั้งแต่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนลงมาจนถึงเมียนม่าร์  สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ไทย  สารธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา  และสาธารณรัฐเวียดนามตอนใต้  แต่ไม่เอยปรากฏว่าพบในบริเวณน้ำกร่อยหรือบริเวณปากแม่น้ำโขงที่ไหลออกสู่ทะเลจีนใต้
                    ประเทศไทยพบว่าปลาบึกอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงตอนที่กั้นพรมแดนไทยโดยตลอด  คือนับตั้งแต่อำเภอเชียงแสน  จังหวัดเชียงราย  ลงไปจนถึงอำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี  แหล่งที่พบปลาบึกอาศัยอยู่ชุกชุมมากที่สุดอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดหนองคาย  โดยเฉพาะวังปลาบึกหรืออ่างปลาบึกบ้านผาตั้ง  อำเภอศรีเชียงใหม่  ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของปลาบึกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ในสมัยเมื่อ  40  ปีก่อน  เฉพาะวังปลาบึกเคยจับปลาบึกได้ไม่ต่ำกว่าปีละ  40 – 50  ตัว  ส่วนปลาบึกที่จับได้ที่จังหวัดเชียงราย  ชาวประมงเชื่อว่าเป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นมาจากวังปลาบึกที่หลวงพระบาง



การเพาะพันธุ์ปลาบึก


ขั้นตอนการดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาบึกจากพ่อแม่พันธุ์ที่จับได้จากแม่น้ำโขง
              1. การดูแลพ่อแม่ปลาบึกหลังจากที่จับได้  ใช้เชือกในลอนร้อยเข้าทางปากออกทางเหงือกผูกติดกับลำไม้ไผ่เพื่อพยุงตัวปลาป้องกันตัวปลาไม่ให้จมลงและป้องกันไม่ให้ปลาดิ้นมาก  สามารถจะรักษาให้พ่อ – แม่ปลามีชีวิตอยู่ได้นาน  5 – 7  วัน
              2.   การฉีดฮอร์โมนเพื่อการผสมเทียม
                   การฉีดฮอร์โมนผสมเทียมปลาบึกในระยะแรก ๆ ใช้ต่อมใต้สมองของปลาไนและปลาสวาย  ซึ่งใช้ต่อมจำนวนมากต่อมาปี  2535  จึงได้เปลี่ยนเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์  LHPHa  ชนิดต่าง ๆ ผสมกับ  Domperidone

                   ลักษณะไข่ปลาบึกเป็นไข่ติด  ซึ่งผสมพันธุ์ครั้งนี้ได้ทำ  2  วิธี
                   วิธีที่  1  หลังจากที่ไข่ได้รับการผสมน้ำเชื้อแล้ว  ใช้เชือกฟางผูกเป็นพวกฉีกเป็นฝอยแล้วจุ่มในไข่เพื่อให้ไข่ติดแล้วนำไปพัก
                   วิธีที่  2  หลังจากที่ไข่ได้รับการผสมพันธุ์จากน้ำเชื้อแล้ว  ใช้น้ำขุ่นตะกอนริมแม่น้ำโขงล้างไข่ที่ได้รับการผสมแล้วเพื่อไม่ให้ไข่ติดกัน

              3. การลำเลียงไข่ปลาบึก  ลำเลียงโดยทางรถยนต์  โดยจะบรรจุไข่ในถุงพลาสติกภายในถุงบรรจุน้ำประมาณ  5  ลิตร  วางถุงพลาสติกบรรจุไข่บนรถกะบะพื้นรถปูด้วยผืนอวนเก่าหรือผักตบชวาและสาดน้ำจนชุ่ม
              4. การเพาะฟักไข่ปลาบึก
                  การเพาะฟักไข่ปลาบึกแบ่งออกเป็น  3  วิธี  คือ
                  -  การฟักไข่ในกระชังผ้า  ไข่ปลาบึกที่ผสมแล้วจะถูกโรยบนเชือกฟางที่คัดเป็นฟอง  ซึ่งลอยในกระชังผ้าขนาด  1x2x0.75  เมตร  ที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ  ไข่ฟักเป็นตัวในระหว่าง  28 – 36  ชั่วโมง
.                  - การเพาะฟักไข่ในกระเช้าผ้าตาถี่  ไข่ปลาบึกจะถูกน้ำมาใส่ในกระเช้าผ้าตาถี่ซึ่งแขวนให้จมน้ำลึกประมาณ  40  ซม.  ในบ่อซีเมนต์  ขนาด  2x3  เมตร  ซึ่งมีระดับน้ำลึกประมาณ  70  ซม.  ตอนปลายของกระเช้ามีสายยาวต่อกับก๊อกน้ำเมื่อปล่อยน้ำออกจากก๊อกจะทำให้มีการไหลของน้ำภายในกระเช้าผ้า  ทำให้ไข่ลอยหมุนอยู่ภายใน  ไข่จะฟักเป็นตัวภายใน  23-33  ชั่วโมง หลังจากไข่ผสมน้ำเชื้อ
                   -  การเพาะฟักไข่ในบ่อซีเมนต์  นำไข่ที่ผสมน้ำเชื้อแล้วเทใส่บ่อซีเมนต์ขนาด  5 x 10  เมตร  มีระดับน้ำลึกประมาณ  40  ซม.  เหนือบ่อมีหลังคาคลุมอยู่ประมาณครึ่งบ่อ  ภายในบ่อต่อท่อแป๊บน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง  1.5  นิ้ว  ปลายอุดและเจาะรูแป๊บน้ำถึงก้นเป็นระยะห่างกันประมาณ  20  ซม.  ความยาวของท่อประมาณ  6  เมตร  วางท่อตรงกลางบ่อ  ปลายท่อต่อสายยางกับปั้มลม  แล้วปล่อยลมไหลผ่านท่อยางเข้าสู่แป๊บน้ำตลอดเวลา  ไข่ฟักเป็นตัวในระยะเวลา  26 – 33  ชั่วโมง



การอนุบาลลูกปลาบึก



               การอนุบาลลูกปลาบึกวัยอ่อน  (Fry  Nursing)

                   การอนุบาลแบ่งออก 2 ระยะคือ ระยะแรกอนุบาลตั้งแต่ลูกปลาฟักออกเป็นตัว ถึงอายุประมาณ 5-6  วัน ระยะที่สองตังแต่ลูกปลาอายุ 5-6 วัน จนถึงอายุ 17–18  วัน

                   ระยะแรก  อนุบาลลูกปลาบึกหลังฟักเป็นตัวจนถึงอายุ  5-6  วัน  ในบ่อซีเมนต์ขนาด  6  ตารางเมตร  ใช้อัตราปล่อย  4,167  ตัวต่อลูกบาศเมตร  ให้ไรแดงมีชีวิตเป็นอาหารในอัตราไรแดง  60  กรัมต่อลูกปลา  5,000  ตัวต่อครั้งและแบ่งเวลาในการให้อาหารเป็น  2  ช่วง  คือ  ระยะ  3  วัน  แรกให้อาหาร  8  ครั้ง  หลังจากนั้นให้อาหาร  6  ครั้ง  ระยะเวลาในการอนุบาลลูกปลาในบ่อซีเมนต์  มีผลต่ออันตราการรอดตายของลูกปลา  กล่าวคือระยะเวลาที่เหมาสมที่ใช้ในการอนุบาลลูกปลาบึกวัยอ่อนในบ่อซีเมนต์ควรอยู่ระหว่าง  5-6  วัน  พอเริ่มเข้าวันที่  7  ของอนุบาลลูกปลาเริ่มทยอยตายและหากอนุบาลนานเกินไป  จะส่งผลให้อันตราการรอดต่ำ  ดังนั้นควรย้ายลูกปลาไปอนุบาลต่อในบ่อดิน
                    ระยะที่สอง  อนุบาลลูกปลาบึก  อายุ  5 –6 วัน  ถึงอายุ  17-18  วัน  ในบ่อดิน  บ่อดินที่เหมาะสมในการอนุบาลลูกปลาบึกคือ  800  ตารางเมตร  โดยปล่อยลูกปลา  18  ตัวต่อตารางเมตร  ระดับน้ำลึก  60 – 70  เซนติเมตร  การให้อาหารวันแรกให้ไรแดงมีชีวิต  2  กิโลกรัมต่อบ่อ  วันต่อมาให้ปลาเป็ดบดละเอียดสาดทั้งบ่อ  ครั้งละครึ่งกิโลกรัม  ทุก ๆ  6  ชั่วโมง  พร้อมทั้งให้ไรแดงเสริมอีกบ่อละ  1  กิโลกรัม  หลังจาก  3  วันแล้วเปลี่ยนจากปลาเป็ดเป็นอาหารผสมมีระดับโปรตีน  27  เปอร์เซ็นต์  วันละครั้ง ๆ ละครึ่งกิโลกรัมเสริมด้วยไรแดงครั้งละ  1  กิโลกรัมทุก  3  วัน
                   อายุของลูกปลาที่จะนำไปอนุบาลในบ่อดินเป็นสิ่งที่ควรคำนึงเป็นอย่างมาก  จากการทดลองนำลูกปลาวัยอ่อนที่ถุงไข่แดงยังยุบไม่หมดไปอนุบาลในบ่อดิน  จะมีอัตราการรอกตายต่ำมากหรือตายทั้งหมดหากใช้ลูกปลาอายุ  5 – 6  วัน  ซึ่งแข็งแรงพอที่จะปรับตัวในสภาพแวดล้อมใหม่ได้แล้วไปอนุบาลต่อในบ่อดินขนาดเล็ก  จะมีอัตราการรอดตายที่ค่อนข้างสูง



ลูกปลาบึกที่พร้อมแจกจ่ายหรือปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
                    ลูกปลาที่พร้อมปล่อยลงสู่แม่น้ำโขงและอ่างเก็บน้ำควรมีขนาดความยาวประมาณ  30  เซนติเมตร  น้ำหนักโดยประมาณ  1  กิโลกรัม  เพื่อเป็นหลักประกันว่าปลาบึกจะได้ปลอดภัยจากการถูกชาวประมงจับ

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

Translate

Popular Posts