Home » » มาปลูกถั่วฝักยาวได้กินตลอดปี

มาปลูกถั่วฝักยาวได้กินตลอดปี


วิธีการปลูกถั่วฝักยาว 
ถั่วฝักยาว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบจะทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมที่สุดในการปลูกคือดินร่วนปนทราย ที่มีค่า pH อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6 หน่วย ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีระบบรากละเอียดอ่อนการเตรียมดินก่อนปลูกอย่างเหมาะสม จะช่วยให้การเติบโตของลำต้นสมบูรณ์และสม่ำเสมอ 

การเตรียมดิน ก่อนการปลูกถั่วฝักยาวนั้น ควรไถพรวนหน้าดินโดยมีความลึกประมาณ 6-8 นิ้ว แล้วตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อทำลายเชื่อโรคและไข่ของแมลงต่างๆ ที่เป็นศัตรูพืช และควรเก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด หลังจากนั้นทำการปรับปรุงโครงสร้างดินให้ดีขึ้น ให้ไถคราดหน้าดินและใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไปพร้อมกันในระหว่างไถคราดได้เลย เสร็จแล้วยกร่อง สำหรับปลูกโดยมีความกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร ความยาวให้เหมาะสมกับแปลงปลูก เตรียมร่องระหว่างแปลงสำหรับเดินเข้าออกประมาณ ไม่เกิน 1 เมตร สำหรับแปลงดินที่ยังไม่เคยปลูกมาก่อนควรนำดินมาวัดค่า pH และวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงจำนวนแร่ธาตุต่างๆ ในดินเพื่อจะได้ปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมในการปลูกต่อไป เมื่อเตรียมดินได้ที่แล้วจึงเป็นขั้นตอนของการปลูกโดยละเอียดดังนี้

1. เตรียมเมล็ดพันธุ์ เนื้อที่ 1 ไร่ควรใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัม คัดเมล็ดพันธุ์ที่ดี ไม่แตกหรือมีจำหนิ หรือมีสภาพไม่เหมาะกับการปลูกออกแยกไว้แล้วนำไปคลุกด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงก่อนเพื่อป้องกันการโดนทำลาย

 2. เตรียมหลุมปลูก ให้ได้ระยะห่างระหว่างแถว 0.8-1เมตร ระหว่างหลุมต่อหลุม 0.5 เมตร (หรือแล้วแต่พิจารณา) โดยให้หลุมลึกประมาณ 5-6 นิ้ว ใช้ใบคูน หรือใบหางนกยูงแห้ง โรยก้นหลุม 1 กำมือ แล้วใช้ปุ๋ยเคมีสูตรที่เหมาะสมกับถั่วฝักยาว เช่น 15-15-15, 13-13-21,12-24-12, 5-10-5 หรือ 6-12-12 ใส่หลุมละ 1/2 ช้อนแกง (10-15 กรัม) คลุกเคล้าให้เข้ากันปิดทับด้วยดินบางๆ

 3. หยอดเมล็ดลงหลุม หลุมละ 3-4 เม็ดแล้วกลบดินลงหลุมประมาณ 5 เซนติเมตรแล้วรดน้ำทันที การให้น้ำระยะ 1-7 วัน ควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้พิจารณาสภาพภูมิอากาศ และสภาพดินด้วย 4. ดูแลต้นกล้า ประมาณ 1 อาทิตย์ เมล็ดจะเริ่มงอกให้เห็นยอดอ่อน เมื่อมีใบจริงประมาณ 3-4 ใบให้ถอนแยกคัดเอาเฉพาะต้นที่แข็งแรงเอาไว้ 2 ต้นต่อ 1 หลุม และทำการกำจัดวัชพืชบริเวณรอบๆ หลุมให้หมด นำใบคูน หรือใบหางนกยูงแห้ง หรือแกลบโรบกลบรอบโคนหลุมหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วรดน้ำให้ฉ่ำ เนื่องจากถั่วฝักยาว เป็นพืชที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด การดูแลรักษาที่ดีจะมีผลต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเป็นอย่างมาก 


 การดูแลรักษาแปลงถั่วฝักยาว
 1. การให้น้ำ โดยทั่วไป พืชตระกูลถั่วต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรแฉะเกินไป ระยะเจริญเติบโตหลังจากทำการถอนแยกแล้วควรให้น้ำทุกๆ 4-6 วันต่อครั้ง หากไม่ได้ทำการโรยแกลบ หรือใบคูน ใบหางนกยูงไว้รอบๆ เพื่อรักษาความชื้น ควรให้น้ำทุก 3-5 วันต่อครั้ง ให้ตรวจสอบความชื้นในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ระบบการให้น้ำอาจใช้วิธีการใส่น้ำเข้าตามร่อง หรืออาจจะใช้วิธีการตักรดโดยตรง ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่มี สภาพพื้นที่ปลูกและความชำนาญของ การปลูกถั่วฝักยาวของผู้ปลูกเป็นหลัก 

2. การปักค้าง ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องอาศัยค้าง หรือนั่งร้าน เพื่อเกาะพยุงลำต้นให้เจริญเติบโต ไม้ที่ใช้สำหรับทำไม้ค้างนั้นใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยความยาวของไม้มีความยาวประมาณ 2.5-3 เมตร หรือตามความเหมาะสม หรืออาจจะสร้างโครงเสาแล้วใช้ลวดขึงด้านบน และใช้เชือกห้อยลงมายังลำต้นถั่วฝักยาวให้เลื้อยขึ้น ระยะเวลาการใส่ค้างถั่วฝักยาวนั้นจะเริ่มใส่หลังจากงอกแล้ว 15-20 วัน โดยจับต้นถั่วฝักยาวให้พันเลื้อยขึ้นค้างในลักษณะ ทวนเข็มนาฬิกา ทำไมต้องทวนเข็ม เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้ลำต้นแข็งแรงและโตไวที่สุด ในแหล่งที่หาค้างยาก ผู้ปลูกควรใช้เชือกแทนค้าง การปลูกถั่วฝักยาวควรมีการทดสอบ การใช้เชือกแทนค้างเพื่อหาข้อมูลสำหรับการลดต้นทุนการผลิต

 3. การใส่ปุ๋ย ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องการธาตุฟอสฟอรัสสูงในการสร้างดอก ในทางวิชาการแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอัตราส่วนของไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P2O5) และโปรแตสเซียม (K2O) คือ 1:1.5-2:1 ปุ๋ยสูตรดังกล่าวไม่มีจำหน่ายในท้องถิ่น อาจใช้สูตร 15-15-15 ซึ่งใช้ในสภาพดินที่เป็นดินเหนียว หรือสูตร 13-13-21 ในสภาพดินที่เป็นดินทราย ให้ใส่ปุ๋ยเมื่อต้นถั่วอายุประมาณ 15 วัน โดยการพรวนดินแล้วโรยปุ๋ยรอบ ๆ ต้นให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 10 เซนติเมตร ในอัตรา 1 ช้อนแกง (25-30 กรัม) ต่อหลุม แล้วใช้ดินกลบ เพื่อป้องกันไม่ให้ปุ๋ยสูญเสียไป การใส่ปุ๋ยร่วมกับปุ๋ยคอกในระยะนี้ จะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และใส่เมื่อเก็บผลผลิตครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 55 วัน โดยใส่ปุ๋ยประมาณ 2 ช้อนแกงต่อต้น และหลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยทุก ๆ 7-10 วัน การใส่ปุ๋ยระหว่างช่วงเก็บเกี่ยวอย่างสม่ำเสมอ และปริมาณพอจะทำให้เก็บถั่วฝักยาวได้นาน โดยผลผลิตมีคุณภาพดี และปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

 4. การกำจัดวัชพืช หลังจากการปลูกถั่วฝักยาวให้งอกแล้ว ต้องคอยดูแลวัชพืชในแปลงปลูก โดยทั่วไปแล้วจะกำจัดวัชพืช หลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 10-15 วัน หรือก่อนที่จะปักค้าง หลังจากนั้นจึงคอยสังเกตจำนวนวัชพืชในแปลง หากพบวัชพืชควรกำจัด และเมื่อต้นถั่วเจริญเติบโตคลุมแปลงแล้วจะทำให้การแข่งขันของวัชพืชลดลง ในการกำจัดวัชพืชในระยะที่ถั่วฝักยาวเริ่มออกดอกนั้น ต้องเพิ่มควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการกำจัดวัชพืชอาจกระทบกระเทือนรากอันเป็นสาเหตุให้ดอกร่วงได้ วิธีที่ดีที่สุดหากถอนไม่ได้ คือการตัดต้นวัชพืชชิดโคนต้นให้มากที่สุด แต่เนื่องจากข้างต้นเป็นการเน้นในเรื่องปุ๋ยเคมีเสียเป็นส่วนใหญ่ และเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาเกี่ยวกับการปลูกพืชผักแบบอินทรีย์ ขอแนะนำปุ๋ยที่จะเพิ่มธาตุฟอสฟอรัสในดินให้แก่พืชตระกูลถั่วชนิดนี้ 

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปลูกถั่วฝักยาว 

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงในการปรับปรุงและบำรุงดินเพื่อให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ปริมาณและชนิดของธาตุอาหารในแต่ละช่วงเวลาการเจริญเติบโตของพืชรวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของดิน ควรมีหลักในการใช้ เพราะปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงที่มีปริมาณธาตุอาหารหลักแต่ละชนิด เช่น สูตรไนโตรเจนสูง ฟอสฟอรัสสูง จะสามารถช่วยให้การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ตรงตามความต้องการของพืชในช่วงที่มีการเจริญเิติบโจได้ดี จะช่วยในเรื่องการประหยัดการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ปุ๋ยที่เน้นในเรื่องธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง ได้มาจากกระบวนการหมักและสลายตัวสมบูรณ์แบบแล้วจากวัสดุอินทรีย์และอนินทรีย์ที่มีธาตุอาหารดังกล่าวสูงผสมกับวัสดุอินทรีย์อื่นๆ ที่มีในธรรมชาติที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูงคือ.. กากถั่วเหลืองหรือปลาป่น มูลสัตว์ และ พด.2 ที่ขยายเชื้อในกากน้ำตาลแล้ว สำหรับวัสดุที่จะสามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสให้สูงได้นั้นคือ 

กากถั่วเหลือง มีไนโตรเจน 7.0-10.0 ฟอสฟอรัส 2.13 โพแทนเซียม 1.12-2.70 
กากเมล็ดถั่วเหลือง มีไนโตรเจน 7.0-10.0 ฟอสฟอรัส 2.0-3.0 โพแทนเซียม 1.0-2.0 
กากเมล็ดละหุ่ง มีไนโตรเจน 4.0-7.0 ฟอสฟอรัส 1.0-1.5 โพแทนเซียม 1.0-1.5 
กากเมล็ดฝ้าย มีไนโตรเจน 6.0-9.0 ฟอสฟอรัส 2.0-3.0 โพแทนเซียม 1.0-2.0 
ปลาป่น มีไนโตรเจน 9.0-10.0 ฟอสฟอรัส 5.0-6.0 โพแทนเซียม 3.8 
เลือดแห้ง มีไนโตรเจน 8.0-13.0 ฟอสฟอรัส 0.3-1.5 โพแทนเซียม 0.5-0.8 
กระดูกป่น มีไนโตรเจน 3.0-4.0 ฟอสฟอรัส 15.0-23.0 โพแทนเซียม 0.68 
หินฟอสเฟต มีไนโตรเจน 0.15 ฟอสฟอรัส 15.0-17.0 โพแทนเซียม 0.10 
มูลค้างคาว มีไนโตรเจน 1.0-3.0 ฟอสฟอรัส 12.0-15.0 โพแทนเซียม 1.84

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

Translate

Popular Posts