Home » » ตะไคร้หอม พืชสมุนไพรไล่ยุง

ตะไคร้หอม พืชสมุนไพรไล่ยุง



ตะไคร้หอม และการปลูกตะไคร้หอม

















ตะไคร้หอมเป็นพืชตระกูลเดียวกันกับตะไคร้บ้าน แต่มีกลิ่นหอมฉุนที่แรงกว่า นิยมนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ต้มน้ำดื่ม ทำธูป และใช้ในการป้องกัน และกำจัดแมลงศัตรูพืช
ตะไคร้หอม (Citronella grass) เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์ Gramineae พันธุ์ที่นิยมปลูกมากเพื่อการผลิตน้ำมันหอมระเหย มีอยู่ 2 ชนิด คือ พันธุ์Cymbopogonnardus Lin. มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ตะไคมะขูด ตะไคร้มะขูด (ภาคเหนือ) หรือตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช) ส่วนอีกชนิดคือพันธุ์Cymbopogonwinterianus Jowitt ปลูกมากบริเวณเกาะชวา มีชื่อพื้นเมืองว่า Mahapengiri ซึ่งต่อมาได้กระจายออกไปหลายแห่ง เช่น เกาะไต้หวัน เกาะไฮติ และเป็นชนิดที่ปลูกมากในประเทศไทย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ลำต้น
ตะไคร้หอมเป็นพืชล้มลุก อายุประมาณได้นาน 6-8 ปี เป็นพืชที่มีกลิ่นหอม เจริญเติบโตด้วยการแตกหน่อ หรือแตกเหง้า มีทรงพุ่มเป็นกอคล้ายตะไคร้บ้าน มีลำต้นยื่นจากเหง้าสั้น รูปทรงกระบอก ผิวเรียบเกลี้ยง ส่วนเหนือดินสูงได้ตั้งแต่ 1-2 เมตร
• ใบ 
ใบเป็นใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ ยาว แต่บางกว่าตะไคร้บ้าน ใบเรียวยาว กว้าง 1.5-2.6 เซนติเมตร ยาว 60-115 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบหยักถี่ คมแข็ง มีผิวใบสาก ไม่มีขน บริเวณโคนใบด้านในมีขน ปลายใบยาวมีลักษณะโน้มลง ใบมีสีเขียวแกมเหลือง กาบใบเป็นส่วนหุ้มที่มองเป็นลำต้นเทียม มีสีเขีนวแกมแดงหรือสีม่วง ซึ่งต่างจากตะไคร้บ้านที่มีสีขาวอมเขียว
• ดอก และเมล็ด
ดอกออกในฤดูหนาว ออกเป็นช่อยาวขนาดใหญ่ เป็นแบบแยก แขนงขนาดใหญ่ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร แกนก้านช่อยาวโค้งหักไปหักมา ช่อดอกย่อยเป็นแบบกระจับหรือแบบเชิงลด ดอกประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศ กาบล่างมี 2 หยัก สีใส รยางค์แข็งยาว (ถ้ามีรยางค์) ไม่มีกาบบน กลับเกล็ดมี 2 กลับ เกสรเพศผู้มี 3 อัน เกสรเพศเมียมี 2 อัน ยอดเกสรปกคลุมด้วยขนยาวนุ่ม ก้านย่อยรูปรี เป็นดอกเพศผู้หรือดอกเป็นหมัน กาบช่อย่อยข้างล่าง มีเส้น 7-9 เส้น  ดอกย่อยจริงมีเกล็ด 1 เกล็ด ยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร มีสีใส ล้อมเกสรเพศผู้ไว้ 3 อัน และมีกลีบเกล็ด 2 กลีบ ผลเป็นแบบผลแห้งติดเมล็ด รูปทรงกระบอกออกกลม และมีขั้วที่ฐาน
น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม
น้ำมันหอมระเหย (volatile oil) เป็นสารอินทรีย์ที่พืชสังเคราะห์ขึ้น มีกลิ่น และรสเฉพาะตัว ถูกสร้างไว้ในเซลล์พิเศษ ผนังเซลล์ ต่อมหรือท่อภายในพืช น้ำมันหอมระเหยเกิดขึ้นจากกระบวนการเมทาบอลิซึมระดับทุติยภูมิ (secondary metabolite) แต่เป็นสารที่ไม่ได้ทำหน้าที่ต่อการเจริญเติบโต เป็นสารที่พบในพืชบางชนิด  สารตั้งต้นในกระบวนการผลิตน้ำมันหอมระเหย เป็นสารที่ได้จากปฏิกิริยาเมแทบอลิซึมระดับปฐมภูมิ (primary metabolite) แตกต่างกันที่มีเอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของการผลิตน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด
พืชที่ผลิตน้ำมันหอมระเหยได้จะสังเคราะห์ จัดเก็บ และปลดปล่อยกลิ่นน้ำมันหอมระเหยแตกต่างกัน สำหรับตะไคร้หอม เป็นพืชที่สร้างน้ำมันหอมระเหยจากเซลล์ขนขนาดเล็ก (microhairs) ที่อยู่บริเวณเนื้อเยื่อถาวร abaxial epidermis ของใบ
การสร้างน้ำมันหอมระเหย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. สารประกอบกลุ่มเทอร์พีนอยด์ (terprenoids)
สารประกอบกลุ่มเทอร์พีนอยด์ เป็นสารสารประกอบอินทรีย์ มีโครงสร้างเป็นเส้นตรงหรือวงแหวน ประกอบด้วยไอโซพรีน (isoprene) ตั้งแต่ 2 หน่วยขึ้นไป เรียกว่า เทอร์พรีนไฮโดรคาร์บอน (terprenehydroocarbon) สารไอโซพรีนที่สำคัญเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเทอร์พีนอยด์ คือ ไอโซพรีนไพโรฟอสเฟต (isoprene pyrophosphate: IPP) และไดเมทธิลอาลลิลไพโรฟอสเฟต (dimetyllalyl pyrophosphate: DMAPP) สารประกอบเทอร์พีนอยด์ที่สังเคราะห์ได้ คือ monoterpenes มีคาร์บอน 10 อะตอม, diterpenes มีคาร์บอน 20 อะตอม, triterpenes มีคาร์บอน 30 อะตอม และ tetraterpenes มีคาร์บอน 40 อะตอม
น้ำมันตะไคร้หอม
สารสำคัญของตะไคร้หอมของสารคือ monoterpenes ที่มีคาร์บอน 10 อะตอม ประกอบด้วยสารสำคัญหลัก 3 ชนิด คือ citronellal, geraniol และ citronellol เป็นสารที่เกิดจากกระบวนการ terpenoidderivertive โดยมีไอโซพรีนไพโรฟอสเฟต และไดเมทธิลอาลลิลไพโรฟอสเฟต เป็นสารตั้งต้นของการสังเคราะห์ เมื่อพิจารณรองค์ประกอบโครงสร้างของ citronellal มีแอลดีไฮด์เป็นองค์ประกอบหลัก (aldehyde volatile oils) ส่วน geraniol และ citronellol มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบหลัก (alchol volatile oils)
2. สารประกอบกลุ่มฟีนิลโพรพานอยด์ (phenylpropanoids)
สารกลุ่มฟีนิลโพรพานอยด์เกิดผ่านกระบวนการ shikimic acid-phenylpropeniod route พบในพืชชั้นสูงหลายชนิด สารตั้งต้นที่สำคัญ ได้แก่ กรดอะมิโน (amino acid) ฟีนิลอะลานิน (phenylalanine) และ ไทโรซิน (tyrosine)
สารสำคัญของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากพันธุ์ C. nardusL. และพันธุ์ C. winterianusJ. มีปริมาณที่แตกต่างกัน โดยพันธุ์ C. winterianus J. มีปริมาณ citronellal, geraniol และ citronellol สูงกว่าพันธุ์ C. nardusL.
สารสำคัญของน้ำมันหอมระเหยจากพันธุ์ Cymbopogonnardus L. และพันธุ์ CymbopogonwinterianusJ.
1. Limonene
– C. nardusL. ร้อยละ 9.7
– C. winterianusJ. ร้อยละ 1.3
2. Methyl neptanone
– C. nardus L. ร้อยละ 0.2
– C. winterianusJ. ร้อยละ Trace
3. Citronellal
– C. nardus L. ร้อยละ 5.2
– C. winterianusJ. ร้อยละ 32.7
4. Citronyl acetate
– C. nardus L. ร้อยละ 1.9
– C. winterianusJ. ร้อยละ 3.0
5. Menthol
– C. nardus L. มีปริมาณน้อย
6. I-borneol
– C. nardus L. ร้อยละ 6.6
– C. winterianusJ. ร้อยละ Trace
7. Citronellol, geranyl acetate
– C. nardus L. ร้อยละ 8.4
– C. winterianusJ. ร้อยละ 15.9
8. Geraniol
– C. nardus L. ร้อยละ 18.0
– C. winterianusJ. ร้อยละ 23.9
9. Methyl euginol
– C. nardus L. ร้อยละ 1.7
10. Methyliso-euqunol; euginol
– C. nardus L. ร้อยละ 7.2
– C. winterianusJ. ร้อยละ 2.3
11. Geranylformate
– C. nardus L. ร้อยละ 4.2
– C. winterianusJ. ร้อยละ 2.5
12. Trans-ocinene
– C. nardus L. ร้อยละ 1.8
การใช้ประโยชน์จากตะไคร้หอม
การใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์
ตะไคร้หอมเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าตะไคร้บ้าน พบในส่วนใบ กาบใบ และลำต้น มีสรรพคุณทางยา ใช้แก้ริดสีดวงในปาก ปากแตกระแหง แผลในปาก ขับลมในกระเพราะ ลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอมคุณสมบัติป้องกันตัวเต็มวัยและสามารถฆ่าไข่ของด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus maculates)ซึ่งเป็นแมงลงในโรงเก็บเข้าทำลายเมล็ดถั่วเขียวที่เก็บ โดยใช้ citronellal ความเข้มข้นร้อยละ 5 ตั้งทิ้งไว้ในดรงเก็บเมล็ดเป็นเวลา 3 ชั่วโมงสามารถออกฤทธิ์ไล่ตัวเต็มวัยและไข่ของด้วงถั่วเขียวได้
มีการทดลองใช้สารสกัดจากตะไคร้หอมยับยั้งเพลี้ยที่เข้าทำลายต้นยี่หร่าฝรั่งได้โดยใช้ citronellal เข้มข้นร้อยละ 1.0 ฉีดพ่นยี่หร่าฝรั่ง และมีการนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อราAspergillusflavus และการผลิต aflatoxin พบว่า citronellal ซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม สามารถยับยั้งการผลิต aflatoxin โดยใช้ความเข้มข้นร้อยละ 1.0
สรรพคุณ
– ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
– ช่วยในการย่อยอาหาร และเจริญอาหาร
– ช่วยป้องกัน และรักษาโรคในช่องปาก ยังยั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัสบางชนิด
ข้อควรระวัง
น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์บีบรัดมดลูก สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน อาจทำให้แท้งได้
การปลูกตะไคร้หอม
ตะไคร้หอมมีในประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว กาญจนบุรี อุบลราชธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ ราชบุรี และชลบุรี โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วที่ปลูกกันมาก พันธุ์ที่นิยมปลูก คือ พันธุ์ C. winterianus J. เนื่องจากมีช่อดอกยาว โน้มต่ำลง มีลำต้น และใบที่ยาว มีกลิ่นแรง และน้ำมันหอมระเหยที่ได้มีคุณภาพดีกว่าพันธุ์ C. nardus L. ที่มีช่อดอกตรง และสั้น นิยมปลูกกันมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
เหง้าตะไคร้หอม
ตะไคร้หอมเป็นพืชที่มีอายุหลายปี ชอบแสงแดดจัด ทำให้เจริญเติบโต และสร้างน้ำมันหอมระเหยเร็ว เป็นพืชที่มีรากฝอยมาก สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ดินที่เหมาะสม ได้แก่ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย ที่มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง  ส่วนดินเหนียวจัดหรือทรายจัด การเจริญเติบโตจะช้า ค่า pH ที่เหมาะสมในช่วง 6-7
• การเตรียมดิน เตรียมแปลง
เตรียมดินหรือแปลงปลูก ด้วยการไถตากดินก่อนปลูกประมาณ 7 วัน พร้อมกำจัดวัชพืช โรค และแมลงในดิน หลังจากนั้น ไถพรวนดินให้ร่วน และไถยกร่อง ให้มีระยะห่างระหว่างแถว 1-1.5 เมตร ขุดหลุมขนาดประมาณ 15 x 15 x 15 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 1-1.5 เมตร หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตราปุ๋ยคอก 3-5 กำมือ/หลุม ปุ๋ยเคมี ครึ่งกำมือ/หลุม
• การเตรียมท่อนพันธุ์
ท่อนพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรเป็นสายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมฉุน ลำต้นใหญ่ ใบยาว โดยขุดเหง้าจากกอที่มีอายุตั้งแต่ 8 เดือน ขึ้นไป นำมาตัดส่วนใบออกให้เหลือเฉพาะกาบใบหรือลำต้น ให้มีข้ออยู่ประมาณ 2-3 ข้อ มีกาบใบหุ้มข้ออยู่ 4-5 ใบ ทั้งนี้ การขุดเหง้าต้องขุดให้มีส่วนรากติดมาด้วย และระวังการหักของโคนเหง้า
• การปลูก
นำต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ลงปลูก หลุมละประมาณ 1-2 ต้น โดยปักให้เอียง 45 องศา หลังจากปลูกประมาณ 20-50 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 และ 16-20-0 และเมื่อตะไคร้หอมเริ่มจะมีการแตกกอในช่วงตั้งแต่ 120 -150 วัน อัตราการใช้ปุ๋ยขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
• การให้น้ำ
การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทำให้ตะไคร้หอมแตกกอเร็วขึ้น และสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปี และตลอดระยะเวลาในการเจริญเติบโต ตะไคร้หอมเป็นพืชที่ทนต่อโรค แมลง และทนแล้งได้ดี ซึ่งง่ายต่อการดูแล
• การเก็บผลผลิต
สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากปลูกประมาณ 6-8 เดือน มีอายุการให้ผลผลิตยาวประมาณ 5-6 ปี แต่ปริมาณการให้น้ำมันหอมระเหยสูงสุดอยู่ในปีที่ 2 หรือ 3 เท่านั้น หลังจากนั้นปริมาณน้ำมันหอมระเหยจะลดลง การปลูกใหม่จึงควรดำเนินการปลูกในปีที่ 3 หรือ 4 การเก็บเกี่ยวจะตัดส่วนใบเหนือพื้นดิน 25-30 เซนติเมตร เพื่อให้ต้นที่เหลือสามารถแตกใบใหม่ได้เร็วขึ้น การเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งควรเว้นระยะห่างประมาณ 3 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 2-3 ครั้ง
ความต้องการตะไคร้หอม
ความต้องการผลผลิตตะไคร้หอมภายในประเทศมีมากกว่าปีละ 15 ตัน ส่วนมากมีความต้องการมากในกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน และโรงพยาบาล เพื่อน้ำไปสกัดน้ำมันหอมระเหย แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยากันยุงและแมลง สารให้กลิ่นในเครื่องสำอาง ยารักษาโรค และน้ำสมุนไพร ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายเข้าสู่โรงงานแปรรูปโดยตรง และบางส่วนส่งออกจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

Translate

Popular Posts