ปรับเปลี่ยนแนวคิด ทำการเกษตรครบวงจรที่ยั่งยืน
ปัจจุบันคนไทยทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ซึ่งหมายถึง ปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไม้ผล ฯลฯ โดยปลูกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงชนิดเดียว แล้วขายเอาเงินไปซื้ออาหารรับประทาน ซึ่งการดำรงชีพของเกษตรกรไทยมิได้ยึดเงินเป็นหลัก แต่ยึดการอยู่รอดมิให้อดอยาก หมายถึง แต่ละวันให้ดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้เงินออกจากกระเป๋าก็อยู่ได้อย่างสบาย ดังนั้นการเกษตรตั้งแต่บรรพกาลแต่ละครอบครัว ทำการเกษตรครบวงจร ทำให้มีอาหารให้ครบรอบเพื่อการดำรงชีพได้ครบ 12 เดือน จึงมีการปลูกพืชที่มีนาข้าวเป็นหลัก พืชไร่ พืชผัก ไม้ผล เลี้ยงปลาไว้ที่บ่อ เลี้ยงเป็ด ไก่ สุกร โค กระบือ ฯลฯ เป็นการเกษตรที่ครบวงจร หมายถึง อาหารโค กระบือ ได้หญ้าในไร่นา ได้ฟางหลังเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อต้องการใช้เงินจึงเอาผลผลิตจากการเพาะปลูกไปขายซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก เพราะปลูกพืชเพียงชนิดเดียวที่บริโภคไม่ได้
การทำการเกษตรมีอยู่ 2 อย่างคือการทำการเกษตรอินทรีย์ และเกษตรเคมี การทำเกษตรอินทรีย์ คือการที่เราเอามูลสัตว์ไปโปรยหว่านเตรียมดินในพื้นที่เพาะปลูกแล้วจึงปลูกพืช ให้จุลินทรีย์ในธรรมชาติเข้ามาย่อยสลาย การทำเกษตรอินทรีย์เป็นการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อไม่ให้ดินเสื่อมเสียสมดุล เพราะ ภูมิปัญญาไทยดั้งเดิมได้ทำการเพาะปลูกด้วยการใช้มูลสัตว์หรือเอาซากพืชที่เหลือใช้จากการเพาะปลูกทำปุ๋ยหมักมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มิได้เผาทิ้งอย่างไร้ค่า เศษฟางใบไม้ถ้าดูผิวเผินอาจมองว่าเป็นสิ่งไร้ค่า แต่คนโบราณจะให้ความสำคัญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เหลือใช้จากการเพาะปลูกเหล่านี้มาก หลังจากเก็บเกี่ยวจะมีฟางเก็บสะสมเอาไว้เลี้ยงโคกระบือ แล้วเอามูลโคกระบือไปปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการทำเกษตรสำหรับการเพาะปลูก และทำปศุสัตว์ไปด้วย รายได้จึงเกิดอย่างต่อเนื่องจากการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ได้รับประโยชน์ทั้งสองทาง
ปัจจุบันคนไทยทำการเกษตรเชิงเดี่ยว เลือกปลูกพืชอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ครบวงจร แล้ว เอาผลผลิตไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง และผลผลิตผลิตออกมาพร้อม ๆ กัน ทำให้ผลิตผลิตล้นตลาด ราคาผลผลิตจึงตกต่ำ มีการใช้สารเคมี ซึ่งทำให้ผลผลิตมีต้นทุนสูง เกษตรกรจึงขาดทุน พ่อค้าคนกลางกดราคา เกษตรกรพบทางตันหันหลังให้กับการเกษตรแล้วหาลู่ทางไประกอบอาชีพอย่างอื่น พร้อมทั้งไม่ยอมให้ลูกหลานเป็นเกษตรกร เนื่องจากรายได้ต่ำ เป็นชนชั้นต่ำในสังคม อาชีพบันเกษตรกรไม่พบกับความยั่งยืน ไม่มีความมั่นคง มีสภาพหนี้สินล้นตัว ดินทำกินได้ถูกนำไปจำนองตามสถาบันแหล่งเงินกู้ ฯลฯ นั่นหมายถึงการล่มสลายของสถาบันเกษตรไทยที่เคยเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แล้วจะเริ่มทำให้สถาบันการเกษตรพบความยั่งยืนอย่างไร
แนวทางการทำเกษตรยั่งยืน
1.ให้มีรายได้จากการเกษตรตลอดปี เหมือนข้าราชการต้องรับเงินเดือนทุกเดือน จะต้องวางแผนปลูกไม้ผลหลาย ๆ ชนิด เพราะไม้ผลให้ผลผลิตออกมาไม่ตรงกัน เช่น มะขาม – ส้มให้ผลผลิตเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์, มะม่วง ให้ผลผลิตเดือนมีนาคม – เมษายน ลิ้นจี่ให้ผลผลิตเดือนพฤษภาคม น้อยหน่า เงาะ ทุเรียนให้ผลผลิตเดือนมิถุนายน- กรกฎาคม ลำไยให้ผลผลิตเดือนสิงคม ลองกอง ลางสาดให้ผลผลิตเดือนกันยายน ส้มโอให้ผลผลิตเดือนตุลาคม ฯลฯ นอกจากนี้ประเทศของเรายังมีผลผลิตจากไม้ผลมากมายอีกนับหลายร้อยชนิดที่ให้ผลตลอดทั้งปี เช่น ฝรั่ง มะนาว มะพร้าว พุทรา ถ้าเกษตรรู้จักการวางแผนปลูกพืชที่หลากหลาย อย่างละเล็กละน้อยจะเป็นรายได้ตลอดปี และมีผลไม้รับประทานไม่อดอยาก ไม้ผลทุกอย่างเพียงแต่ปลูกไว้อย่างละต้นให้มีกินก่อนอิ่มแล้วจึงคิดเอาไปขาย
2. วางแผนทำการเกษตรผลิตอาหารให้มีกินตลอดปีโดยไม่ต้องซื้อ เช่น จะต้องปลูกข้าว มีบ่อเลี้ยงปลา กุ้ง หอย กบ ปลูกพืชผักสวนครัวที่มีความจำเป็น เลี้ยงเป็ด ไก่ ห่าน ฯลฯ ทุกอย่างจะเป็นอาหารสด ๆ ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าอาหารที่ปนเปื้อนด้วยสารเคมี
3. ต้องลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นในการเกษตรทุกชนิด เช่น สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถพึ่งตนเองได้ แล้วหันมาใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นผลิตปุ๋ยหมัก (โบกาฉิ) สารสกัดจากพืชที่มีในท้องถิ่น เลิกการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี สารฆ่าหญ้าทุกชนิด เพราะเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เร่งให้เกิดโรคระบาดเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี สุขภาพอ่อนแอลง เกษตรกรมีหนี้สินล้นพ้นตัว
4. ใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นอย่างชาญฉลาด เกิดประโยชน์คุ้มค่า เห็นคุณค่าของมูลสัตว์ ฟางข้าว ใบไม้ ซังข้าวโพด แกลบ หญ้าสด-หญ้าแห้ง เศษพืชผักจากตลาดสด เศษขยะ-เศษอาหาร ผลไม้ที่มีในท้องถิ่น ฯลฯ วัสดุที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง เพราะเมื่อนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์อีเอ็มแล้ว จะช่วยปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งเกษตรกรต้องนำเอาเศษวัสดุทุกชนิดที่มีในท้องถิ่น นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดในการที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ จะช่วยให้เกิดการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนได้ พึ่งพาปัจจัยการผลิตภายนอกน้อยที่สุด
5. ปลูกพืชหลาย ๆ อย่างในพื้นที่เดียวกัน ให้เกิดการผสมผสาน เกื้อกูล นำเอาวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด หลีกเลี่ยงการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะมีรายได้ปีละหนึ่งครั้ง ผลผลิตออกมาพร้อม ๆ กันจึงถูกกดราคา เกษตรกรจำเป็นต้องขายเพื่อแลกเป็นเงินไปเลือกซื้ออาหารในการดำรงชีพ ดังนั้นเพื่อชะลอราคาผลผลิตตกต่ำเพื่อให้มีอาหารกิน ต้องวางแผนทำนาให้มีข้าวกิน มีปลา เป็ด-ไก่ ไว้เป็นอาหาร มีพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิดเพื่อหลีกเลี่ยงไปจ่ายตลาด และมีไม้ผลหลากหลายชนิดเอาไว้บริโภค แต่มีรายจ่ายออกทุกวัน และไว้จำหน่ายให้เกิดรายได้ตลอดทั้งปี มีวัวควายเอาไว้กินฟางกินหญ้าในสวน และใช้แรงงาน จะได้ใช้มูลสัตว์นำไปทำปุ๋ยหมักอีเอ็มโบกาฉิ เพื่อนำมาปรับปรุงบำรุงดินที่มีคุณภาพดีและต้นทุนต่ำ
6. แหล่งน้ำถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเกษตร ในฟาร์มจะต้องวางแผนหาแหล่งน้ำเพื่อให้สัตว์เลี้ยงกิน นำมาปลูกพืชผัก เพาะข้าวกล้าในฤดูฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และใช้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาที่เป็นซุปเปอร์มาเกตมีอาหารสด ๆ ได้ตลอดทั้งปี
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น