ยาถ่ายไก่
ยาถ่ายโบราณคนนิยมใช้กันมากมีส่วนผสมดังนี้
- เกลือประมาณ 1 ช้อนคาว
- มะขามเปียก 1 หยิบมือ
- ไพลประมาณ 5 แว่น
- บอระเพ็ดยาวประมาณ 2 นิ้ว หั่นเป็นแว่นบาง ๆ
- น้ำตาลปีบประมาณ 1 ช้อนคาว
- ใบจากเผาไฟเอาถ่าน (ใช้ใบจากประมาณ 1 กำวงแหวน)
ใช้ครกตำให้ละเอียดเข้า ด้วยกัน เวลาใช้ยาควรให้ไก่กินเวลาเช้าท้องว่าง ปั้นเป็นลูกกลอนขนาดหัวแม่มือ 2 เม็ด ให้น้ำกินมาก ๆ หน่อย แล้วครอบผึ่งแดดไว้รอจนกว่ายาจะออกฤทธิ์ ถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้ง ก็พอแล้วเอาข้าวให้กินเพื่อให้ยาหยุดเดิน
น้ำสำหรับอาบไก่
ปกติไก่เลี้ยงจะต้องอาบน้ำยาจนกว่าไก่จะชน เครื่องยาที่ใส่น้ำต้มมีดังนี้
- ไพลประมาณ 5 แว่น
- ใบส้มป่อยประมาณ 1 กำมือ
- ใบตะไคร้ ต้นตะไคร้ 3 ต้น
- ใบมะกรูด 5 ใบ
- ใบมะนาว 5 ใบ
เอา 5 อย่างมารวมกันใส่หม้อต้มให้เดือดแล้วทิ้งไว้ให้อุ่น พออุ่น ๆ แล้วค่อยอาบน้ำไก่ แล้ว นำไปผึ่งแดดให้ขนแห้ง
สมุนไพรเกี่ยวกับโรคผิวหนัง บาดแผล เห็บหมัด ไรไก่
สมุนไพรเดี่ยว
- รากหนอนตายอยาก แผลติดเชื้อ มีหนอง มีหนอน ตำให้แหลก พอก หรือคั้นน้ำ ทาแผล
- ตะเคียน ต้มเคี่ยวใช้ทาแผล หรือตำให้แหลกแช่น้ำ ใช้แช่เท้าเปื่อย
- ประดู่ ต้มเคี่ยวใช้ทาแผล
- หนามคนทา ใช้ฝนทาแผล หนอง
- ลูกหนามแท่ง ต้มใช้น้ำชะล้างแผล หรือชำระล้าง
- ลูกมะคำดีควาย ต้ม ใช้น้ำชำระล้าง
- กำมะถันแดง โรยบนเตาไฟใช้รมบาดแผล
- หนามกำจาย ฝนทาแผล ติดเชื้อ
- เปลือกสีเสียด ต้มเคี่ยว ใช้ล้างแผล แช่เท้าเปื่อย
- ว่านมหากาฬ ตำพอกแผล
- ฟ้าทะลายโจร ต้มเคี่ยวใช้ชะล้าง
- ยาฉุน แช่น้ำ ไล่เห็บ เหา หมัด ไรไก่
- แมงลักคา ขยี้สดๆวางไว้ในเล้าไก่ไล่ไรไก่
น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง
น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง
- ไม้กระดูกไก่ทั้ง ๒
- เปลือกสมอทะเล
- ยอดส้มป่อย
- ขมิ้น
- ใบหนาด
ต้มรวมทั้งหมดเอาน้ำใช้อาบ
น้ำยาอาบไก่ชน รักษาผิว และทำให้ไก่แข็งแรง
- ไพล
- ขมิ้น ( ขมิ้นอ้อย หรือขมิ้นก็ได้ )
ตำใช้ประคบ
พืชสมุนไพรป้องกันหวัดไก่
พืชสมุนไพรป้องกันหวัดไก่ ภูมิปัญญาไทยแท้แต่โบราณ จาก สถานะการณ์ ไข้หว้กนกที่ผ่านมา ในขณะที่ฟาร์มไก่เป็นโรค ระบาดตายหมดเล้า แต่เรากลับพบว่า "ฟาร์มไพบูลย์" ตั้งอยู่เลขที่ 23 หมู่ 3 ตำบลบ้านสร้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีไก่ไข่ที่เลี้ยงไว้ประมาณ 20,000 ตัว ในพื้นที่ 5 ไร่ กลับไม่ เป็นอะไรเลย ยังมีอาการปกติดีทุกอย่างไพบูลย์ รักษาพงษ์พานิชย์ อายุ 55 ปีเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ เล่าว่า เขามีเทคนิคในการเลี้ยงไก่ ที่ไม่เหมือนกับฟาร์มอื่นๆ กล่าวคือเขาได้ใช้สมุนไพรไทย เข้ามาช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ให้กับไก่ไข่ภายในเล้า โดยเคล็ดลับ ในการเลี้ยง และดูแลรักษาไก่ ให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคระบาด โดยเฉพาะโรคไข้หวัด และโรคอหิวาต์นั้น ใช้ ฟ้าทะลายโจรผง และบอระเพ็ดผสมให้ไก่กิน ซึ่งฟ้าทะลายโจรนี้ใช้ได้ทั้งก้าน และใบนำมาบดผสมเข้ากับบอระเพ็ด อัตราส่วนโดยประมาณ ฟ้าทะลายโจร 1 ตัน ผสมบอระเพ็ด 2 กิโลกรัม แล้วนำสมุนไพรที่ว่านี้ผสมลงในอาหารอีกครั้ง อัตราส่วนสมุนไพร 15 กิโลกรัมต่ออาหารไก่ 1,000 กิโลกรัม คลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน ก่อนนำเอาไปให้ไก่กินทุกวันฟ้าทะลายโจรจะช่วยในเรื่องของการป้องกันในเรื่องของหวัดไก่และคุมเรื่องโรคอหิวาต์ หรือโรคท้องร่วงที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าหนาว เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับไก่ ทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคหรือติดโรค ง่ายเวลาที่มีการระบาด เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมานาน และค่อนข้างใช้ได้ผล ซึ่งนอกจากสมุนไพรแล้ว เรื่องของ "น้ำ" ก็สำคัญ เพราะเชื้อมักมากับน้ำ ฉะนั้นการใช้น้ำคลองหรือน้ำบาดาลให้ไก่กิน ควรใส่ยาฆ่าเชื้อพวกคลอรีนหรือเพนนิซิลลินเสียก่อนอีกวิธีที่ใช้กันมานาน ก็คือ การใช้ตะไคร้ วิธีการก็คือนำตะไคร้ทั้งกอมาต้มให้ไก่กินแทนน้ำ (การต้มน้ำก็เป็นการฆ่าเชื้อโรคได้ทางหนึ่ง)
ส่วนไอน้ำตะไคร้ที่ต้มก็ให้ใช้วิธีต่อท่อพ่นเข้าไปในเล้าไก่ แต่ทั้งนี้ต้องทำความสะอาดเล้าไก่ให้ดีเสียก่อน เชื่อว่าเป็นการไล่หวัดไก่ได้ วิธีการนี้เคยใช้เมื่อครั้งเกิดโรคระบาดไก่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม แม้เกษตรกรบางรายอาจจะมองว่าเป็นการไปเพิ่มต้นทุน แต่ถ้าสามารถป้องกันโรค และไม่เกิดความเสียหายจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นก็ถือว่าคุ้มที่จะลงทุน ตามสำนวนไทยที่ว่า ป้องกันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน แนะใช้ "สมุนไพร" แทนยาปฏิชีวนะ เสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันโรคระบาดในไก่
วิจัยพบสมุนไพรหลายชนิด เช่น ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน พริก ฝรั่ง มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อในไก่ สามารถใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะที่กำลังเป็นปัญหาในการส่งออกได้ สกว. หนุนวิจัยเชิงลึก ทั้งสร้างมาตรฐานการใช้สมุนไพร การผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ รวมถึงวิธีการปลูก ที่นอกจากจะช่วยรักษาตลาดส่งออกไก่เนื้อ มูลค่าสี่หมื่นล้านบาทต่อปี และเปิดตลาดอาหารสุขภาพแล้ว ยังเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรไทยที่จะหันมายึดอาชีพปลูกสมุนไพรอีกด้วย
หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ก็คือ "โรคระบาด" เพราะทุกครั้งที่มีโรคระบาดเกิดขึ้นจะสร้างความสูญเสียกับผู้เลี้ยงเป็นอย่างมาก และเป็นการยากที่จะป้องกันไม่ให้โรคลุกลามไปยังไก่ที่เหลือในเล้าและฟาร์มใกล้เคียง ดังที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่หลายจังหวัดในขณะนี้
สาเหตุสำคัญของการระบาดก็คือ สภาพของการเลี้ยงไก่จำนวนมากในพื้นที่น้อย ๆ ซึ่งนอกจากสร้างความเครียดให้กับไก่แล้ว ยังทำให้ไก่กินอาหารน้อยลงและมีภูมิต้านทานโรคลดต่ำลง จนเป็นเหตุให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย ซึ่งแนวทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพไก่ก็คือ การใช้ยาหรือสารปฏิชีวนะผสมในน้ำหรืออาหารที่ไก่กิน เพื่อช่วยลดความเครียดและกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น
น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในการประชุมวิชาการ "สมุนไพรไทย : โอกาสและทางเลือกใหม่ ของอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ ครั้งที่ 2 " ว่าขณะนี้นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ คือ การสร้างความปลอดภัยด้านอาหารเพื่อผู้บริโภคในประเทศและการส่งออก แต่ปัจจุบันยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหาร เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของไก่อยู่ค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกันมีการศึกษาวิจัยในด้านการใช้สมุนไพรอย่างจริงจังในหลายหน่วยงาน ซึ่งหากพบว่าสามารถใช้ทดแทนได้จริง ทางกระทรวงโดยกรมปศุสัตว์ก็พร้อมให้การสนับสนุน
"สมุนไพร" เป็นทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ ในการแก้ปัญหาการตกค้างของสารต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีงานวิจัยอยู่มากพอสมควร และเราได้กำหนดมาตรการการเลี้ยงสัตว์ในบ้านเราให้ยาปฏิชีวนะน้อยที่สุด หากใช้ ต้องใช้เพื่อการรักษาเท่านั้น และหากจะใช้ต้องมีระยะหยดยาด้วย ซึ่งทำให้สมุนไพรอาจเป็นคำตอบของเรื่องนี้ก็ได้ และหากมีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าใช้สมุนไพรแทนได้จริงทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มค่า เราก็พร้อมสนับสนุน เพราะจะมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะตลาดสินค้าอินทรีย์ที่ยุโรป ซึ่งเขาต้องการสินค้าพวกนี้ โดยไม่เกี่ยงเรื่องราคา
รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. กล่าวเสริมว่า การใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ไม่ได้รับการยอมรับจากตลาดต่างประเทศ เนื่องจากเกรงผลตกค้างที่อาจทำให้เกิดการดื้อยาในผู้บริโภค โดยหลังปี 2006 สหภาพยุโรปจะห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ทุกชนิด รวมถึงไก่เนื้อส่งออกของไทย ที่ขณะนี้ส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก มีมูลค่าส่งออกทั่วโลกกว่าสี่หมื่นล้านบาทในปี 2546 ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ของไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อรับมาตรการดังกล่าว เพราะมาตรฐานด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกประเทศจะมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน
"ปัญหาคือ มีรายงานในยุโรปพบว่า สัตว์ที่ได้รับสารปฏิชีวนะในระดับต่ำ ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายเกิดการดื้อยาปฏิชีวนะนั้น เพราะฉะนั้นการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีการใช้สารเหล่านี้เข้าไปเป็นประจำ ก็อาจมีผลให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะในมนุษย์ได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้หลายประเทศในตะวันตกนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้เป็นกลยุทธ์ป้องกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับสารเหล่านี้ และหนึ่งในนั้นคือ มาตรการห้ามนำเข้าไก่ที่มีการเลี้ยงโดยเติมสารปฏิชีวนะ"
ในเรื่องดังกล่าว ภาคอุตสาหกรรมส่งออกไก่เนื้อของไทย ทั้งในรูปไข่ไก่แช่แข็งและแปรรูป ก็มิได้นิ่งนอนใจ หลายบริษัทเริ่มหันมาศึกษาหาแนวทางในการลดละเลิกการใช้สารปฏิชีวนะเหล่านี้ ซึ่งหนึ่งในคำตอบนี้คือ "สมุนไพร" รศ.ดร. จันทร์จรัส กล่าวว่า งานวิจัยภายใต้ชุดโครงการ "การใช้สมุนไพรในการผลิตสัตว์" โดยการสนับสนุนของ สกว. ที่ผ่านมา ได้พบสมุนไพรหลายตัว เช่น ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน พริก ใบหรือผลฝรั่งอ่อน มีคุณสมบัติช่วยให้ไก่ที่เลี้ยงไว้มีอัตราการรอด และการเจริญเติบโตไม่แพ้การเลี้ยงโดยเติมสารปฏิชีวนะ ซึ่งสิ่งที่ สกว. กำลังทำอยู่ในปัจจุบันคือ การพยายามหาตัวเลข หรือค่าบางตัวที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่า สมุนไพรมีผลดีต่อสัตว์จริง ในเชิงวิชาการนำปัญหาจากภาคอุตสาหกรรมมาแปลงเป็นโจทย์วิจัย เพื่อให้นักวิจัยสาขาต่าง ๆ ได้ช่วยกันศึกษาและสรุปผล ให้คำตอบที่ถูกต้องแก่ผู้เลี้ยงสัตว์
ศ.ดร. นันทวัน บุณยะประภัคร จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ประสานงานโครงการชุดนี้ กล่าวว่า จากผลการวิจัยที่ผ่านมา แม้จะพบว่า มีพืชหลายชนิดมีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นสารเติมในอาหารสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ หากยังอยู่ในระดับการศึกษาเพื่อดูผลจากการนำไปใช้ แต่สิ่งที่จะดำเนินการต่อในช่วง 2 ปี ข้างหน้านี้ คือการวิจัยเพื่อสร้างระบบในการนำสมุนไพรเหล่านี้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
"ขณะนี้ งานวิจัยถึงผลของการใช้พืชเหล่านี้กับกระบวนการออกฤทธิ์ในสัตว์ เช่น ลดความเครียด หรือช่วยในการย่อย ได้ผลในเบื้องต้นแล้วพบว่า การใช้ฟ้าทลายโจร และขมิ้นชัน มีผลในทางบวกต่อไก่อย่างเห็นได้ชัด ส่วนการวิจัยในพืชชนิดอื่น เช่น พริก ใบฝรั่ง กระเทียม ก็ยังพบว่ามีผลต่ออัตราการโตและอัตราการรอดของสัตว์เหล่านี้ และนอกจากงานวิจัยทั้งสองส่วนนี้แล้ว เรายังได้สนับสนุนให้นักเภสัชศาสตร์ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการนำสมุนไพรเหล่านี้ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ง่ายต่อการผสมในอาหาร ที่เก็บได้นาน ทนต่อความชื้น และคงตัวต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งงานนี้จะดำเนินไปพร้อมกับการนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ไปทดสอบใช้กับการเลี้ยงไก่เนื้อและหมู เพื่อหาส่วนผสมที่เหมาะสมที่สุด คุ้มค่าที่สุด ซึ่งคาดว่าภายในปีหน้า จะมีผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรสำหรับการเลี้ยงไก่และสุกรออกมาทดลองตลาดอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุด มีภาคเอกชนแสดงความสนใจจะเข้าร่วมทุนวิจัยและพัฒนาแล้ว"
นอกเหนือจากการวิจัยถึงผลการใช้ต่อสัตว์ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ศ.ดร.นันทวัน กล่าวว่า งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งกำลังดำเนินการภายใต้ชุดโครงการวิจัยนี้คือ การวิจัยเพื่อหารูปแบบการปลูกพืชสมุนไพรที่เหมาะสมทั้งระดับเกษตรและระดับอุตสาหกรรมไทย เพราะหากขาดส่วนนี้ไป แม้สมุนไพรชนิดนั้นจะดีอย่างไร หากเราปลูกขึ้นมาไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งงานวิจัยส่วนนั้นนอกจากช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตสัตว์แล้ว ยังอาจเป็นทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพของเกษตรกรไทยยุคหน้าได้อีกด้วย
ท่ามกลางปัญหาโรคระบาดไก่ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน นอกเหนือจากการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว การป้องกันในระยะยาวด้วยการประยุกต์ภูมิปัญญาไทย และภูมิความรู้ด้านสมุนไพร มาใช้ทดแทนสารที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาจกลายเป็นทางเลือกหรือคำตอบใหม่ของการดูแลสุขภาพไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ายิ่งขึ้น
ในปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโรคที่เกี่ยวกับไก่รุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ เป็นอันมาก เกษตรกรบางรายสงสัยว่า ทำวัคซีนแล้วแต่ไก่ก็ยังตายหมดทั้งฟาร์ม ซึ่งกระแสข่าวที่ผ่านมาทำให้คนไทยกลัวที่จะรับประทานไก่ เพราะกลัวโรคระบาดนั้นจะติดต่อมาสู่คน
ส่วนใหญ่การรักษาโรคไก่มักจะใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะกลุ่มของไก่พื้นเมือง ซึ่งอาจมีผลให้เกิดสารตกค้างถึงมนุษย์ และการรักษาดังกล่าวก็อาจทำให้ไก่ที่เหลืออยู่เป็นพาหะของโรคต่อไปหรือส่งผลให้เชื้อโรคที่ยังอยู่มีพัฒนาการต่อก็ได้ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาหรือก่อให้เกิดความหวาดกลัวต่อไป
การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยพืชสมุนไพรเป็นอีกลู่ทางหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจและมีการสนับสนุน เช่น การใช้สมุนไพรฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata Wall. Ex Nees) เป็นพืชสมุนไพรทางการแพทย์ มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นสารพวก diterpene lactones ออกฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น Esherichia coli และ Salmonella typhi ยับยั้งเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจ เช่น Staphylococcus aureus และมีสรรพคุณแก้ไข้ แก้หวัด แก้โรคบิด โรคท้องร่วง และแก้แผลบวมอักเสบ ซึ่งสรรพคุณที่ดีเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นในด้านการป้องกันรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับไก่ เช่น โรคอุจจาระขาว ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียพวก Salmonella pullorum และในปัจจุบัน (ปี 2547) ได้มีโรคระบาดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่าเป็นโรคนิวคาสเซิล สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครสวรรค์ระบุว่า เกิดจากโรค แซลโมเนลลา (Salmonellasis) หรือโรคขี้ขาว และโรคอหิวาห์เป็ดไก่ที่ชื่อ Fowl Cholera
ผู้รายงานได้มีโอกาสเข้าศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และทำการศึกษาหาระดับที่เหมาะสมและศึกษาผลของสมุนไพรฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata) ในสูตรอาหารไก่ ต่อประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาโรคอุจจาระขาวในไก่พื้นเมือง โดยใช้ไก่พื้นเมืองคละเพศ อายุแรกเกิด จำนวน 160 ตัว โดยมี ดร.โอภาส พิมพา และ รศ.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ภายใต้ทุนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร
ในการทดลองเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 14 สัปดาห์ ซึ่งในช่วงการทดลองนั้นไก่จะถูกสุ่มแบ่งออกเป็นกลุ่ม จำนวน 16 กลุ่ม กลุ่มละ 10 ตัว แต่ละกลุ่มจะถูกสุ่มแบบอิสระ ให้ได้รับอาหารทดลองที่มีสมุนไพรฟ้าทลายโจรในส่วนประกอบมากขึ้น 4 ระดับ คือ 0% 0.5% 1.0% และ 1.5% ในสูตรอาหารตามลำดับ
ไก่แต่ละกลุ่มที่ได้รับอาหารในแต่ละสูตรจะให้กินได้อย่างเต็มที่ เพื่อวัดปริมาณการกินได้ ในแต่ละคอกจะมีน้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา
ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 ครึ่งหนึ่งของไก่ที่ได้รับอาหารทดลองแต่ละสูตร จะถูกสุ่มให้ได้รับเชื้อ Salmonella pullorum ซึ่งเชื้อจะถูกฉีดเข้าปากสู่ทางเดินอาหารโดยตรง
วัดอัตราการเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการใช้อาหาร ศึกษาอาการเครียดและเหงาซึม ตลอดทั้งวัดคุณภาพซากเมื่อเลี้ยงครบ 14 สัปดาห์ ซึ่งไก่จะมีอายุ 16 สัปดาห์ จากการศึกษาพบว่าระดับของฟ้าทลายโจรที่เหมาะสมในสูตรอาหารคือ 1.0% เพราะมีผลให้ไก่กินอาหารได้มากที่สุด และมีแนวโน้มให้ไก่มีน้ำหนักตัวสูงที่สุด ตลอดทั้งอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดด้วย
นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันผลเสียอันเกิดจากเชื้อ Salmonella pullorum ที่มีต่อไก่ เช่น อาการเครียด ส่งผลต่อการกินอาหารที่ลดลงและอัตราการเจริญเติบโตที่ลดลง ซึ่งระดับฟ้าทลายโจร 1.0% ในสูตรอาหารยังสามารถทำให้อัตราการแลกเนื้อดีที่สุดในช่วงที่ไก่ได้รับเชื้อ Salmonella pullorum
สมุนไพรฟ้าทลายโจรในสูตรอาหารจะช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์ซากดีขึ้น และมีผลให้เปอร์เซ็นต์เนื้อหน้าอกมากด้วย ซึ่งในไก่พื้นเมืองสามารถย่อยสมุนไพรได้ดีกว่าไก่พันธุ์เนื้อในระบบฟาร์ม
หลังจากเสร็จสิ้นการศึกษาในเดือนพฤศจิกายน 2546 จึงได้ใช้อาหารที่มีระดับฟ้าทลายโจรในสูตรอาหารระดับ 1% เรื่อยมา และหลังจากนั้นไก่ในฟาร์มที่เลี้ยงไม่มีอาการป่วยแสดงให้เห็น รวมทั้งในช่วงที่มีการระบาดที่รุนแรงและเฉียบพลันยังได้นำฟ้าทลายโจรน้ำหนักแห้งจำนวน 10 กรัม ผสมน้ำ 2.5 ลิตร ให้ไก่กินทุกวันอย่างสม่ำเสมอ พบว่าสามารถลดอัตราการตายของไก่พื้นเมืองลูกผสม 5 สายพันธุ์ ลงได้ (มีอัตราการตายประมาณ 7%)
ทั้งนี้ไก่ทุกตัวต้องได้รับการทำวัคซีนตรงตามโปรแกรมที่กรมปศุสัตว์กำหนด จึงได้ทดสอบง่ายๆ ในช่วงที่ 2 โดยเริ่มจากแบ่งไก่ออกเป็น 16 คอก คอกละ 6 ตัว ซึ่งไก่ทุกตัวมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง หลังจากนั้น ได้นำไก่ชาวบ้านที่ป่วยเป็นโรคระบาดดังกล่าว มาใส่รวมไว้ในคอกที่ 2 ให้น้ำเปล่าตามปกติ
หลังจากนั้นสังเกตอาการป่วย ปรากฏว่าไก่คอกที่ 2 มีอาการป่วยอย่างเห็นได้ชัดเจน จึงเริ่มให้ฟ้าทลายโจรน้ำหนักแห้ง 10 กรัม ผสมน้ำ 2.5 ลิตร ให้ไก่กินตั้งแต่คอกที่ 5-16 ปรากฏว่า ไก่คอกที่ 1-4 ตายหมด คอกที่ 5-16 ไม่ตายและยังมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
หลังจากนั้นอีก 1 สัปดาห์ หยุดให้ฟ้าทลายโจร และนำน้ำฉีดลงที่พื้นคอกให้เปียกแฉะ (พื้นคอกปูด้วยแกลบ) สังเกตอาการของไก่ที่เหลือพบว่ามีไก่ป่วยแต่อาการไม่รุนแรง จึงให้ฟ้าทลายโจรอีกครั้งหนึ่งผสมลงในน้ำอัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 2.5 ลิตร พบว่าสามารถลดอัตราการตายของไก่พื้นเมืองลูกผสม 5 สายพันธุ์ ลงได้ ซึ่งถ้าหากได้มีการทดลอง วิจัยในระดับที่ละเอียดและชัดเจน อาจจะมีประโยชน์ต่อวงการปศุสัตว์ได้มากขึ้น ดังนั้น การให้อาหารที่มีพืชสมุนไพรฟ้าทลายโจร 1.0% ในสูตรอาหารจึงยังคงสร้างกำไรและลดอัตราเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคในฟาร์มได้ และหากเกษตรกรมีการปลูกพืชสมุนไพรฟ้าทลายโจรใช้เองจะทำให้การเลี้ยงไก่ได้กำไรมากยิ่งขึ้น เพราะสมุนไพรฟ้าทลายโจรมีราคาแพง หากจะจัดซื้อมาผสมอาหารไก่เอง ซึ่งมีราคาประมาณ 200 บาท ต่อกิโลกรัม
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น