Home » » การผลิตแก๊สโซฮอล์

การผลิตแก๊สโซฮอล์



>>>การผลิตแก๊สโซฮอล์

การผลิตแก๊สโซฮอล์
            แก๊สโซฮอล์คือส่วนผสมของน้ำมันเบนซินกับเอทานอล ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งเอทานอลสามารถผลิตได้จากพืชที่ปลูกในประเทศ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง รวมทั้งธัญพืช เช่น ข้าวฟ่าง ข้าว และ ข้าวโพด เป็นต้น
            ปัจจุบันรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มมากขึ้น โดยให้มีราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 3.30 บาท และราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ต่ำกว่าน้ำมันเบนซิน 91 ลิตรละ 2.80 บาท
           ดังนั้นการที่เราเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ จึงเป็นการช่วยชาติในการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง และยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้แก๊สโซฮอล์ยังเป็นพลังงานสะอาด จึงปล่อยมลพิษทางท่อไอเสียต่ำกว่าเบนซินทั่วไป ดังนั้นการใช้แก๊สโซฮอล์จึงเป็นผลดีต่อสุขภาพเราเอง และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับประเทศ ที่สำคัญที่สุด

          "เราสามารถผลิตเองได้โดยใช้วัตถุดิบของเราภายในประเทศ"

ปัจจุบันประเทศไทย โดยกระทรวงพลังงาน อนุญาตให้มีการผลิตแก๊สโซฮอล์ 3 ชนิด คือ
        1.น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 แบ่งเป็น
               1.1 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91
               1.2 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95
        โดยมีส่วนผสมของเอทานอลไม่เกินร้อยละ 10 และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 9 กับ น้ำมันเบนซินพื้นฐานร้อยละ 90 โดยปริมาตร สามารถใช้แทนหรือสลับกับน้ำมันเบนซิน 95และ 91 ได้ตามปกติโดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์

        2.น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 มีส่วนผสมของเอทานอลไม่เกินร้อยละ 20 และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 19 กับ น้ำมันเบนซินพื้นฐานร้อยละ 80 โดยปริมาตร

        3.น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 มีส่วนผสมของเอทานอลร้อยละ 85 กับ น้ำมันเบนซินพื้นฐานร้อยละ 15 โดยปริมาตรหรือมีเอทานอลไม่ต่ำกว่าร้อยละ75

โดยเอทานอลที่ใช้ผสมจะอยู่ในรูปของเอทานอลแปลงสภาพ

แก๊สโซฮอล์ในประเทศไทยและต่างประเทศ
                เมื่อปี พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่าประเทศไทยอาจประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมันและปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ ทรงมีพระราชดำรัสให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ศึกษาถึงการนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล) โดยการนำแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้นี้มาผสมกับน้ำมันเบนซินได้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” (Gasohol) หรือนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “แก๊สโซฮอล์”  

                                        
                                  พระบาทสมเด็จพระเจ้อยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสซักถาม การดำเนินงานจากคณะทำงาน

                การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯถวายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์เพื่อให้ความสะดวกกับรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรดา เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2539 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทางเปิดสถานีบริการแก๊สโซฮอล์

                                       
                ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 รัฐบาลมีนโยบายให้ใช้เอทานอลที่กลั่นได้จากกากน้ำตาลมาผสมในน้ำมันเบนซินในสัดส่วน 95 และ 90 เป็นจุดเริ่มต้นของแก๊สโซฮอล์ที่ออกมาสู่ท้องตลาด ในขณะนั้นมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร ทำให้แก๊สโซฮอล์เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของพลังงานทดแทน



                                      

                จากประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ พ.ศ. 2551ได้ให้หมายความของ “น้ำมันแก๊สโซฮอล์” คือน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมน้ำมันเบนซินพื้นฐานกับเอทานอลแปลงสภาพ และกำหนดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 กลุ่มที่ 1. น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 10 คือ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ได้จากการผสมน้ำมันเบนซินพื้นฐานกับเอทานอลแปลงสภาพ ในสัดส่วน 90 ต่อ 10 โดยปริมาตร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 10 ออกเทน 91 (แก๊สโซฮอล์ 91) และน้ำมันแก๊สโซฮอล์อี10 ออกเทน 95 (แก๊สโซฮอล์ 95)
 กลุ่มที่ 2. น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 คือ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ได้จากการผสมน้ำมันเบนซินพื้นฐานกับ เอทานอลแปลงสภาพในสัดส่วน 80 ต่อ 20 โดยปริมาตร
 กลุ่มที่ 3. น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 85 คือ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ได้จากการผสมน้ำมันเบนซินพื้นฐานกับเอทานอลแปลงสภาพในสัดส่วน 15 ต่อ 85โดยปริมาตร

                   สำหรับการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินในข้างต้น เป็นในลักษณะของสารเติมแต่งปรับปรุงค่าOxygenates และออกเทน (Octane) ของน้ำมันเบนซิน ซึ่งสามารถใช้ทดแทนสารเติมแต่งชนิดอื่นที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ Methyl Tertiaryn Butyl Ether (MTBE) ซึ่งเป็นสารที่ย่อยสลายยาก เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และต้องนำเข้าจากต่างประเทศมูลค่าหลายพันล้านต่อปี ดังนั้นการใช้แก๊สโซฮอล์ มีส่วนช่วยลดปัญหาสภาวะเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน อีกทั้งเอทานอลเป็นสารที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ จึงสามารถลดปัญหาการนำเข้าจากต่างประเทศและช่วยประหยัดเงินตราให้ประเทศปีละหลายพันล้านบาทได้อีกด้วย

                                       

                   เอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol) ในทางเคมีเป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์มีสูตรทางเคมีคือ C2H5OH ประกอบด้วย คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เป็นไฮดรอกซิล ดิริเวทีฟของไฮโดรคาร์บอน เกิดจากการแทนที่ไฮโดรเจนอะตอมด้วย hydroxyl group (OH)  มีน้ำหนักโมเลกุล 46.07 จุดเดือดประมาณ 78 องศาเซลเซียส เป็นของเหลวใสไม่มีสี ติดไฟง่าย ให้เปลวไฟสีน้ำเงิน ไม่มีควัน

                   ประเทศที่ผลิตเอทานอลมากที่สุดของโลกในลำดับต้นๆ ได้แก่ บราซิล และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งแนวโน้มการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนในประเทศแถบเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ก็ให้ความสนใจมากในการใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะเอทานอล และปัจจุบันอินเดียได้มีการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ เพื่อใช้ภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถส่งออกเทคโนโลยีไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย
 
                                      
                                โรงงานผลิตเอทานอลโดยใช้พืช และสถานีบริการน้ำมัน (แก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซิน)
                                                                ที่มีอยู่ทั่วไป ในประเทศบราซิล

                                            
ประเทศบราซิลผู้นำด้านแก๊สโซฮอล์
                    ประเทศบราซิลจัดได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นผู้นำด้านแก๊สโซฮอล์ และมีการส่งเสริมการใช้อย่างจริงจัง เริ่มจากความพยายามที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศที่สูงถึงร้อยละ 80 โดยรัฐบาลได้จัดตั้งแผนงานว่าด้วยแอลกอฮอล์แห่งชาติ หรือเรียกย่อๆ PROALCOOL ขึ้น เพื่อสนับสนุนการผลิตเอทานอล เพื่อทดแทนน้ำมันในยุคที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นสูงในช่วงปี พ.ศ.2517-2518 ประกอบกับประเทศบราซิลมีพื้นที่กว้างใหญ่มากและมีเป็นผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลเป็นอันดับหนึ่งของโลก การส่งเสริมอย่างจริงจังทำให้มีการก่อสร้างโรงกลั่นเอทานอลทั่วประเทศ โดยบราซิลใช้ อ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีการผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงเอทานอลทั้งรถยนต์ส่วนตัวเเละเพื่อการพาณิชย์  ทำให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศบราซิลใช้แก๊สโซฮอล์เป็นเชื้อเพลิง โดยเอทานอลที่ผสมกับน้ำมันมีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 20 หรือ E20 ขึ้นไป และได้มีการพัฒนามาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง


ตารางแสดงการผลิตรถที่ใช้เอทานอล ระหว่างปี พ.ศ. 2522 - 2550 ในประเทศบราซิล     

                    จนกระทั้งปัจจุบัน (พ.ศ. 2551) บราซิลได้นำเทคโนโลยีรถยนต์ Flexible Fuel Vehicles หรือ FFV ที่สามารถใช้เเก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอลในระดับต่างๆกัน ตั้งเเต่ น้ำมันเบนซินธรรมดาไปจนถึงน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลสูงร้อยละ 85 หรือ E85 กระทั่งนำเอทานอลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรงคือ E100 

                                        

                    พ.ศ. 2517 (1974) Brazilian Fiat 147 เป็นรถยนต์ต้นแบบคันแรกที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง (E100) และพ.ศ. 2546(2003) Brazlian VW Gol 1.3 Total Flex เป็นรถยนต์คันแรกที่ใช้ เทคโนโลยีรถยนต์ Flexible Fuel Vehicles หรือ FFV ในประเทศบราซิล

                    เทคโนโลยีรถยนต์ Flexible Fuel Vehicles หรือ FFV ได้เปิดตัวไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเนื่องจากรถยนต์ชนิดนี้ได้มีการออกแบบเครื่องยนต์ที่สามารถใช้น้ำมันหรือน้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอลในอัตราส่วนต่างๆ กัน จนถึงระดับเอทานอล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้รถยนต์ FFV ออกแบบให้มีระบบเซ็นเซอร์สำหรับตรวจสอบอัตราส่วนผสมของเอทานอลกับน้ำมันเบนซิน เพื่อควบคุมระบบการเผาไหม้เชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนวัสดุระบบเชื้อเพลิง เช่น ถังน้ำมัน ท่อจ่ายน้ำมันและหัวฉีดน้ำมัน เพื่อให้ทนต่อการกัดกร่อนของเอทานอลได้  บริษัทรถยนต์แห่งหนึ่งในประเทศบราซิลเปิดเผยเมื่อปี 2547ว่ามียอดขายรถยนต์สูงกว่า 328,000 คัน  ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่นิยมในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากราคาไม่แตกต่างจากเครื่องยนต์ทั่วๆไป

                                             
                             รถยนต์ 6 ยี่ห้อที่ใช้เทคโนโลยีFlexible Fuel Vehicles หรือ FFV ซึ่งได้รับความนิยมจากคนบราซิล
_________________________________________________________________________________________________________________________________
อ้างอิง http://www.dede.go.th/dede/index.php?option=com_content&view=article&id=145%3A2010-05-11-09-02-05&catid=61%3A2010-04-06-09-22-58&Itemid=68&lang=th , 
               http://www.vcharkarn.com/varticle/38199

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

Translate

Popular Posts