Home » » การผสมพันธุ์กวาง

การผสมพันธุ์กวาง

การผสมพันธุ์กวาง

คำอธิบาย: การผสมพันธุ์ของกวางจะมีความสัมพันธ์กับการงอกของเขา ในตัวผู้เมื่อเขากวางแข็งตัวเต็มที่เป็นเวลาที่กวาง ...


การผสมพันธุ์ของกวางจะมีความสัมพันธ์กับการงอกของเขา ในตัวผู้เมื่อเขากวางแข็งตัวเต็มที่เป็นเวลาที่กวางตัวผู้พร้อมผสมพันธุ์ ซึ่งจะมีอายุประมาณ 2 ปี ถ้าไม่ทำการตัดเขา ก็จะเริ่มขวิดกันเองหรือขวิดต้นไม้เมื่อไม่มีคู่ต่อสู้ ดังนั้นในการเลี้ยงกวางจึงต้องทำการตัดเขาออกเพื่อความปลอดภัยของกวางในฝูง ปกติอัตราส่วนของการให้เพศคุมฝูงแม่พันธุ์โดยเฉลี่ย กวางแดงประมาณ 1:15 กวางรูซ่าประมาณ 1:20
ฤดูการผสมพันธุ์ของกวางจะผันแปรไปตามภูมิประเทศ ในบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ส่วนในเขตอบอุ่นฤดูผสมพันธุ์จะสั้นลงประมาณ 1.5 - 2 เดือน เช่นทางภาคใต้ของประเทศไทย ฤดูผสมพันธุ์กวางรูซ่าจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจริญของเขาด้วยกวางที่ผสมติดมีระยะเวลาตั้งท้อง 8 เดือน 10 วัน ส่วนมากตกลูกเพียงตัวเดียว อัตราการเกิดลูกแฝดมีน้อยมาก การเก็บข้อมูลการผสมพันธุ์เป็นเรื่องจำเป็น ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถคัดเลือกกวางเพื่อไว้เป็นพ่อ/แม่พันธุ์ต่อไปได้ หรือกวางตัวใดที่สมควรคัดทิ้ง ในด้านการจัดการเกี่ยวข้องกับการบันทึกข้อมูลการผสมพันธุ์นั้นคือวิธีการทำเบอร์ ซึ่งผู้เลี้ยงควรพิจารณาวิธีการที่เหมาะต่อสภาพของฟาร์มและทุนทรัพย์การให้ลูกในฟาร์มกวาง 

ฟาร์มกวางที่ประสบผลสำเร็จควรมีการให้ลูกที่หย่านมแล้วเฉลี่ยทั้งฟาร์มร้อยละ 85 โดยเฉลี่ยของทั้งฟาร์ม ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกับศักยภาพของกวางในธรรมชาติ ทั้งนี้เพราะในการเลี้ยงปกติความสูญเสียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ประมาณร้อยละ 10 โดยความสูญเสียนี้จะเริ่มนับตั้งแต่เวลาผสมติดแล้วไปจนถึงช่วงหย่านมส่วนอีกร้อยละ 5 ของการสูญเสียนั้นน่าจะถือเป็นเรื่องของฝีมือกล่าวคือถ้าฟาร์มใดไม่ได้มีการสูญเสียหรือสูญเสียในอัตราส่วนที่ต่ำก็ถือว่าเป็นกำไร แต่ถ้าเกินร้อยละ 5 นี้ผู้เลี้ยงกวางควรจะลองไปดูในรายละเอียด โดยเริ่มตั้งแต่น้ำหนักของกวางสาว และแม่กวางว่าอยู่ในภาวะที่เหมาะสมหรือไม่เพาะจุดนี้จะเชื่อมโยงไปถึงความสามารถในการผสมติดเป็นหลักดังกล่าว ในจุดต่อไปนั้นควรดูที่การตายหลังการคลอด ซึ่งส่วนมากมักเกิดขึ้นตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึงอายุ 1 สัปดาห์ และอีกจุดหนึ่งก็คือตั้งแต่อายุ 1 สัปดาห์ไปจนอายุหย่านมเลยทีเดียว 

จากประสบการณ์ฟาร์มกวางในต่างประเทศนั้นส่วนใหญ่ การสูญเสียจะเกิดขึ้นจากช่วงแรกคลอดจนถึง 1 สัปดาห์ (neonatal) โดยถ้าหากน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่า 3 กก. นั้นโอกาสที่จะมีชีวิตรอดภายใน 48 ชั่วโมงนั้นนับว่าต่ำมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกวางคลอดในช่วงฤดูร้อนก็แทบจะทำให้เปอร์เซ็นต์การเลี้ยงรอดเท่ากับศูนย์ แต่หากลูกวางมีชีวิตรอดพ้นช่วง 2 - 3 สัปดาห์แรกไปได้แล้ว โอกาสที่จะมีชีวิตรอดไปจนระยะหย่านมก็เป็นไปได้สูงมาก จากการผ่าซากของลูกวางที่ตายระหว่างแรกคลอดจนถึงอายุ 2 - 3 สัปดาห์นั้น ส่วนใหญ่พบลักษณะของการได้รับอาหารไม่เพียงพอหรือจะเรียกว่าอดอาหารเลยก็ว่าได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสืบเนื่องมาจากการมีน้ำหนักแรกคลอดค่อนข้างต่ำ คือต่ำกว่า 3 กก. นั้นเองจึงทำให้มีอาหารสะสมไม่พอต่อการใช้ และควบคู่กันไปนั้นก็คือความอ่อนแอทำให้ไม่สามารถช่วยตัวเองในการหาดูดน้ำนมจากแม่ประกอบกับแม่กวางเองก็มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ทำน้ำหนักเมื่ออายุแรกผสมพันธุ์ไม่ถึง 30 กก. จึงเป็นสาเหตุร่วมกันทำให้ต้องสูญเสียลูกกวางไปในที่สุดได้โดยง่าย เมื่อลองพิจารณาสาเหตุทั้งหมดแล้วก็สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่นั้นก็เนื่องมาจากอาหารไม่เพียงพอ 

ในส่วนของกวางสาวนั้นจุดสำคัญ คือจะทำอย่างไรให้กวางสาวมีน้ำหนักสูงพอเมื่อถึงระยะผสมพันธุ์ (เมื่ออายุไม่เกิน 10 เดือน) หรือมีน้ำหนักถึง 30 กิโลกรัมภายในอายุไม่เกิน 16 เดือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70 ของน้ำหนักโตเต็มที่ ทั้งนี้เนื่องจากน้ำหนักของกวางสาวในระยะแรกผสมพันธุ์นั้นมีความสัมพันธุ์ต่ออัตราการผสมติดค่อนข้างสูง กล่าวคือ ถ้ากวางสาวมีน้ำหนักตัวสูงกว่า 30 กิโลกรัม ก็จะผสมติดง่ายคลอดลูกเร็ว และให้ลูกที่มีสุขภาพแข็งแรงกว่ากวางสาวที่มีน้ำหนักตัวน้อย 

สำหรับตัวผู้นั้นอาจกล่าวได้ว่ามีปัญหาน้อยกว่ากวางตัวเมียมาก ทั้งนี้เพราะตามธรรมชาติของมันนั้นในช่วงฤดูร้อนกวางตัวผู้จะพยายามกินอาหารให้มากเพื่อจะได้สะสมเป็นไขมัน สร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นแก่ร่างกายเพื่อความพร้อมในฤดูผสมพันธุ์ (rut) กวางตัวผู้ที่มีอายุมากและน้ำหนักตัวมากแล้วนั้นจะไม่ค่อยมีปัญหาเท่ากับกวางตัวผู้ที่อายุได้เพียง 2 - 3 ปี ซึ่งเป็นอายุที่กำลังเริ่มผสมพันธุ์โดยอาจจะมีน้ำหนักลดลงถึง 15 กก. ในเวลาอันรวดเร็วได้ เหตุการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เจ้าของฟาร์มกวางควรทำนั่นก็คือการพยายามประคองไม่ให้กวางสูญเสียน้ำหนักไปกว่านี้ ซึ่งนั้นก็หมายถึงว่าจะต้องพยายามให้กินอาหารให้มากและสมบูรณ์ที่สุดก่อนถึงฤดูผสมพันธุ์ และเมื่อผ่านพ้นฤดูผสมพันธุ์ไปแล้วก็ต้องให้อาหารอย่างสมบูรณ์ที่สุดต่อไปด้วยเช่นกัน 

กวางตัวผู้นั้นหลังฤดูผสมพันธุ์จะกินเก่งเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว จึงขึ้นอยู่กับเจ้าของฟาร์มว่าจะเข้าใจความต้องการของกวางหรือไม่เท่านั้นเอง และในส่วนของการหย่านมนั้นควรหย่านมลูกกวางที่น้ำหนัก 15 - 18 กก. จะดีที่สุดและควรหย่านมก่อนถึงฤดูผสมพันธุ์ถ้าเป็นไปได้

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

Translate

Popular Posts