Home » » การเลี้ยงมดแดงไข่นอกฤดู

การเลี้ยงมดแดงไข่นอกฤดู





ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมดแดง ไข่มดแดง

มดแดงเป็นแมลงชนิดหนึ่งจัดอยู่ในแมลงที่เป็นประโยชน์ทางการเกษตร แต่คนส่วนใหญ่จะไม่ทราบและเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับจากมดแดง ที่ช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยต่างๆ หนอนศัตรูพืชเกือบทุกชนิด  ปัจจุบันมดแดงถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกประเภทหนึ่งที่เกษตรกรนิยมเลี้ยง  โดยเฉพาะภาคอีสาน ถ้าเลี้ยงออกนอกฤดูกาลได้ สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงมาก 

ประโยชน์ทางตรง ได้แก่ ไข่มดแดง ใช้ประกอบเป็นอาหารหรือนำผลผลิตที่เหลือไปจัดจำหน่าย เป็นการสร้างรายได้ ไข่มดแดง เป็นที่ นิยมของคนอีสานเก็บไข่ มดแดงจากต้นไม้รอบบ้านหรือจากป่าธรรมชาติมาจำหน่าย เนื่องจากไข่มดแดงสามารถนำมาปรุงอาหารได้มากมายหลายชนิดเป็นต้นว่า แกงขี้เหล็กใส่ไข่มดแดง ยำไข่มดแดง ผัดไข่มดแดง เป็นต้น ตัวมดแดงเองนั้น ก็มีกรดน้ำส้มซึ่งคนอีสานใช้แทนน้ำมะนาว ในการประกอบอาหาร และยังใช้เป็นยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย โดยการนำมดแดงมาขยำแล้วสูดดม แทนแอมโมเนีย ซึ่งได้ผลดีกว่าหลายเท่านัก

ประโยชน์ทางอ้อม ได้แก่ การนำเอาการเลี้ยงมดแดง มาช่วยปรับสภาพสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ต้นไม้รอบบ้าน ตลอดถึงการนำเอาวิถีชีวิตของ มดแดง มาเป็นสื่อให้ข้อคิด เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของมนุษย์ด้านคุณธรรมต่างๆ เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเสียสละไม่เห็นแก่ตัว เป็นต้น ซึ่งเป็นสื่อที่มีประโยชน์ ทรงคุณค่าต่อการนำมาช่วยพัฒนาคุณลักษณะของผู้คนในสังคม ให้มีลักษณะนิสัยเกื้อกูล อุดหนุนและพึ่งพากัน ให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีกัน สังคมประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้า พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เทียมทันนานาอารยะประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ จึงขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบกิจกรรมด้านการเกษตร ชาววนเกษตรทั้งหลายและขอวิงวอนว่า มดแดง คือ ทรัพยากร ภูมิปัญญาของคนไทย เป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กันมานาน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำสิ่งที่ดีมีประโยชน์ตามธรรมชาติ ให้กลับมาช่วยฟื้นฟูสภาพความสมดุลของ ธรรมชาติ ระบบนิเวศ ระบบเกษตรของเราอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป พร้อมกับอนุรักษ์ หวงแหน มดแดงเอาไว้ต่อไป อย่าให้ผู้ใดมาแย่งเอาไป แล้วจดลิขสิทธิ์เหมือนดั่งเช่น ข้าวไทยพันธุ์ดีของเรา ที่ปรากฏเป็นข่าวดังมาแล้ว จึงขอฝากมดแดงตัวน้อยเอาไว้กับท่านทั้งหลายด้วย ให้เป็น มดแดงแฝงพวงมะม่วงในสวน ในป่า และต้นไม้รอบบ้านของท่านตลอดไป นานแสนนาน เพราะมดแดง เป็น ผู้ให้ตลอดกาล 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมดแดง แมลงที่น่าสนใจในการศึกษามากที่สุด ได้แก่ แมลงที่มีการจัดระเบียบสังคม ที่เรียกว่า Social Organization มี มด ผึ้ง และต่อ และเรียกแมลงพวกนี้ว่า Social Insects หมายถึง แมลงที่มีการทำงานร่วมกัน มีการสร้างรัง เลี้ยงดูตัวอ่อน ต่อสู้ศัตรูที่มาทำอันตรายให้กับพวกของมัน มดแดงจึงจัดเป็นแมลงที่มีสังคมชนิดหนึ่ง จึงได้ทำการรวบข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับมดแดงไว้ ดังนี้
1.    รูปร่างลักษณะของมดแดง
มดแดง มีลำตัวสีส้มค่อนแดง ความยาวตลอดลำตัวประมาณ 1 เซนติเมตร ชาวบ้านโดยทั่วไป เรียกว่ามดแดงบางท้องถิ่น เช่นชาวผู้ไท เรียกว่า มดส้มฝรั่งเรียกว่า “Red Ant” ในทางวิทยาศาสตร์ มดแดงจัดเป็นสัตว์อยู่ใน ไฟลัมอาร์โทรโปดา (Artropoda) อยู่ในคลาส อินเซกต้า (Insecta Class) สัตว์ที่อยู่ในคลาสนี้ ได้แก่สัตว์จำพวกแมลงต่างๆ เช่น ตั๊กแตน มด ปลวก ผีเสื้อ ต่อ แตน ผึ้ง ฯลฯ สัตว์จำพวกนี้ มีร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.
ส่วนหัว มีอวัยวะที่สำคัญ คือ หนวด 1 คู่ ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ตา 1 คู่ และปาก ซึ่งมีเขี้ยวที่แหลมคม ใช้ประโยชน์ในการขบกัดต่อสู้ศัตรู กัดกินอาหาร รวมทั้งกัดแทะเยื่อใบไม้ ในการสร้างรัง

2.
ส่วนอก มีอวัยวะที่สำคัญ คือ ขาที่เรียวเล็ก ยาว จำนวน 3 คู่ ภายในร่างกาย (Body) มีท่อสำหรับการหายใจโดยใช้ท่อลม (Trachea) ที่มีกิ่งก้านสาขาแยกไปทั่วร่างกาย และเปิดออกสู่ ภายนอกตรงช่อง Spiracle ซึ่งอยู่ข้างลำตัว มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในการเจริญเติบโต ตามกระบวนการ Metamorphosis

3.
ส่วนท้อง เป็นส่วนที่อยู่หลังสุดของมดแดง เป็นศูนย์รวมของน้ำกรด หรือกรดมดที่มีความเป็นกรดพอดี มดแดงใช้กรดนี้เป็นประโยชน์ในการสร้างรัง ต่อสู้ขับไล่ศัตรูผู้รุกราน

       วิถีชีวิตและวงจรชีวิตของมดแดง

มดแดงแดงเป็นสัตว์สังคม เนื่องจากมดแดงชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ช่วยกันสร้างรังออกไข่ เลี้ยงดูออกอ่อนให้เจริญเติบโตเป็นสมาชิกใหม่ ขยายประชากรมดแดงให้เพิ่มมากขึ้น ภายในรังของมดแดง จะมีสมาชิก ดังต่อไปนี้

2.1
แม่เป้งหรือนางพญา (Queen Caste) มีรูปร่างขนาดใหญ่กว่ามดแดงธรรมดา มีขนาดเท่ากับตัวแตนหรือตัวต่อบางชนิด ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาล มีปีกสำหรับบิน มีหน้าที่ออกไข่คล้ายกับนางพญาผึ้ง เมื่อใดที่แม่เป้งเห็นว่าสภาพไม่เหมาะ ในการสร้างรังและวางไข่ แม่เป้งจะทิ้งรังเดิม แล้วบินไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ที่มีน้ำ อาหารอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ที่มีใบดก เขียวชอุ่ม หนาทึบ และไม่มีศัตรูรบกวน



2.2 มดดำหรือพ่อพญาหรือพ่อพันธุ์ (Male Caste) จะพบพ่อพญาในฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น คือประมาณเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน หรือต้นฤดูฝน เนื่องจากพ่อพญาจะต้องผสมพันธุ์กับนางพญาหรือแม่เป้งเพื่อให้แม่เป้งบินไปสร้างรังแล้ววางไข่ คล้ายการผสมพันธุ์ของผึ้ง เมื่อมดดำผสมพันธุ์กับแม่เป้งแล้ว ไม่นานก็จะตายจนกว่าจะถึงฤดูกาล มดดำจะถูกฟักออกมาอีกครั้ง มดดำจะมีปีกสำหรับบินได้ ลักษณะพิเศษนี้คล้ายแมลงเม่าของปลวก

2.3
มดแดงหรือมดงาน (Workers Caste) ได้แก่ มดแดงที่พบเห็นกันโดยทั่วไป มีหน้าที่สร้างรัง หาอาหาร เลี้ยงดูตัวอ่อน ตลอดทั้งการป้องกันศัตรูผู้รุกราน มดแดงทุกตัวทำหน้าที่ทุกอย่างด้วยความขยันขันแข็งตลอดเวลา แม้ในเวลากลางคืน หากไม่มีอาหารที่สะสมไว้ในรัง มดแดงก็จะออกหาอาหาร โดยไม่หยุดพักผ่อนเลย 

วงจรชีวิตของมดแดง
วงจรชีวิตของมดแดงจะเริ่มต้นที่แม่เป้งออกไข่ที่มันสร้างเพียงตัวเดียวก่อน โดยการพับใบไม้ใบเดียว หรือสร้างใยบริเวณ ซอกของก้านกล้วย ใบไม้ที่ชอบพับทำรังและวางไข่ของแม่เป้ง คือ ใบข่า ใบม้วนหมู ใบยางอินเดีย ใบยอ ใบมะพร้าว เป็นต้น ไข่มดแดงมีหลายลักษณะ ดังนี้

1.
ไข่มาก เป็นไข่ที่มีขนาดใหญ่กว่าไข่ธรรมดา สีขาว ใส สะอาด จะฟักออกมาเป็นแม่เป้ง หรือนางพญา สำหรับการออกไข่ขยายพันธุ์ จะมีมากในราวเดือนมกราคม ถึงเมษายน

2.
ไข่ฝาก เป็นไข่ที่มีขนาดเล็ก ไม่โต ไม่เต่ง เหมือนไข่มาก จะฟักออกมาเป็นตัวมดแดงธรรมดา กลายเป็นมดงานซึ่งถือเป็นประชากรที่สำคัญมากในสังคมมดแดง หากมีประชากรมดแดงมาก ย่อมหมายถึงการขยายประชากรเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมดแดงหรือมดงานนี้ เป็นกำลังในการสร้างรัง หาอาหาร น้ำ เลี้ยงดูไข่หรือตัวอ่อน เพื่อให้เจริญเติบโตภายในเวลาอันรวดเร็ว

3.
กระบวนการสร้างรังของมดแดง


   มดแดงทุกตัวจะมีใยพิเศษ ที่สร้างมาจากกรดน้ำส้มหรือกรดมดจากส่วนท้อง ผสมกับเยื่อหรือยางของใบไม้ ถ้ากล่าวในเชิงวิทยาศาสตร์โครงสร้างของใบไม้จะมีแป้ง หรือคาร์โบไฮเดรตปนอยู่ มดแดงจะดึงใบไม้มายึดให้ติดกันโดยใช้ใยนี้ เมื่อแห้งจะมีสีขาวและเหนียว คล้ายสำลี ยึดติดให้ใบไม้เป็นรูปทรงกลม สามารถป้องกันน้ำฝนได้
      มดแดงชอบทำรังอยู่ตามต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น ริมลำห้วย ลำธาร หนองน้ำ จะพบมดแดงอาศัยทำรังอยู่อย่างหนาแน่น มากกว่าแหล่งที่ไม่มีน้ำ เนื่องจากมดแดงต้องการน้ำมาก เพื่อใช้ในการสร้างกรดน้ำส้ม บรรจุไว้ในส่วนท้อง แล้วนำไปใช้ในการดำรงชีวิตของมัน
ต้นไม้ที่มดแดงชอบทำรัง ได้แก่ ต้นไม้ที่มีใบอ่อน นุ่ม หนา ไม่ผลัดใบง่าย มีอัตราการคายน้ำ คายก๊าซออกซิเจนที่ดี เช่น ต้นหว้า ชมพู่ สะเม็ก มะม่วง ลำไย มะเฟือง มะไฟ ต้นจิก ต้นรัง ต้นพอก กะบก กะบาก เป็นต้น
   ในฤดูฝน มดแดงจะสร้างรังอยู่ตามต้นไม้เล็กๆ ไม่สูงมากนักเนื่องจากการสร้างรังในที่สูง มดแดงจะประสบกับปัญหาจาก ลม ฝน พายุ ทำให้รังได้รับความเสียหาย จึงพากันสร้างรังขนาดเล็ก หลายๆ รัง ในที่ต่ำเกือบติดดิน เพื่อป้องกันความเสียหายดังกล่าว ดังนั้นหากมีใบของพืชประเภทไม้เลื้อย เช่น บวบ ม้วนหมู ตำลึง หรือไม้เถาพื้นบ้าน มดแดงจะสร้างรังอาศัยอยู่ทันที

4.
อาหารของมดแดง
มดแดงชอบอาหารที่สะอาด ทั้งสดและแห้ง ที่สามารถจะกัด แทะได้ ซึ่งเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือ พวกแมลงต่างๆ โดยจะคาบไปเก็บสะสมเอาไว้ในรัง ถ้าเป็นอาหารชิ้นใหญ่ที่ไม่สามารถจะคาบหรือ ลากไปเก็บในรังได้ มดแดงจะช่วยกันกัด และเยี่ยวราดหรือปล่อยกรดมดใส่ไว้ เพื่อไม่ให้อาหารนั้นบูดเน่าเสียหาย เปรียบเสมือนเป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง และรอให้อาหารนั้นแห้ง จึงค่อยกัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปเก็บไว้ในรัง เพื่อป้อนตัวอ่อนหรือกินเป็นอาหารพร้อมๆ กัน
 มดแดงจะส่งสัญญาณให้กันได้รับรู้และเดินทางมาทันที หากเหยื่อยังมีชีวิตอยู่ มันจะรุมกัด และเยี่ยวราด (ปล่อยกรดมดหรือกรดน้ำส้ม) เหยื่อจะตาย หรือได้รับบาดเจ็บ มดแดงจะช่วยกันลากไปเก็บไว้ในรัง สะสมไว้เป็นอาหารเลี้ยงดูลูกอ่อน ต่อไป
ข้อสังเกตประการหนึ่งพบว่า มดแดงจะนำอาหารไปเก็บสะสมไว้ในรังเสมอ เนื่องจาก
ภายในรังอาหารจะไม่ถูกน้ำค้าง น้ำฝน อาหารจะไม่บูดเน่า รวมทั้งเป็นที่รวมของสังคมมดแดง ซึ่งจะมีการประชุม วางแผนการทำงานและกินอาหารร่วมกัน อีกประการหนึ่งด้วย

5.
ศัตรูของมดแดง
ศัตรูของมดแดง กล่าวได้ว่า มีค่อนข้างน้อย เพราะมดแดงมีเยี่ยวเป็นกรดน้ำส้ม หรือกรดมดที่บรรจุไว้ในส่วนท้องของมัน สามารถขับไล่ศัตรูผู้รุกรานที่อยู่อาศัย โดยมดแดงจะกัดและเยี่ยวราด ทำให้ปวดแสบ ปวดร้อน ประกอบกับมีกลิ่นที่ฉุน ทำให้ศัตรูพ่ายแพ้ หลบหนีหรือถูกทำลายไป แต่ก็ยังพบว่า มดแดงมีศัตรูอยู่บ้าง ได้แก่ 

5.1
ปลวก มดแดงจะไม่ชอบปลวก แต่ปลวกก็ไม่ใช่ศัตรูโดยตรงของมดแดง เพราะปลวกไม่ได้ทำอันตรายมดแดงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงว่า มดแดงไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีปลวก คงเป็นเพราะปลวกมีกลิ่นที่มดแดงไม่ชอบก็อาจเป็นได้

5.2
มดดำ มดดำทุกชนิดเป็นศัตรูโดยตรงของมดแดง หากมดฝ่ายใดพลัดหลงเข้าไปในกลุ่มของฝ่ายตรงข้าม ก็จะถูกรุมกัดจนตาย มดดำจะเก่งกล้ากว่ามดแดงมาก โดยเฉลี่ยแล้วมดดำ ตัวเดียว จะสามารถทำลายมดแดงได้ถึง 10 ตัว 

5.3
มดไฮ มดชนิดนี้บางท้องถิ่น เรียกว่ามดเอือด” เป็นมดขนาดเล็ก ลำตัวยาวไม่เกิน 1 มิลลิเมตร เป็นศัตรูที่ร้ายแรงที่สุดของมดแดงอย่างยิ่ง เนื่องจากมดชนิดนี้มีเยี่ยวที่มีกลิ่นฉุนรุนแรงมาก หากมดแดงได้รับกลิ่น และถูกเยี่ยวของมันก็จะตายทันที คล้ายกับว่าได้รับแก็สพิษฉะนั้น มดไฮ 1 ตัว สามารถทำลายมดแดงได้ถึง 20 ตัวเลยทีเดียว

6.
ประโยชน์ของมดแดง
ประโยชน์ของมดแดง มีมากมายหลายประการ พอสรุปได้เป็นหัวข้อ ดังนี้

6.1
ใช้เป็นอาหาร ได้จากไข่ และตัวมดแดง มดแดงมีกรดน้ำส้ม ให้รสเปรี้ยว อร่อย
มีคุณสมบัติเป็นกรดใช้แทนมะนาว หรือน้ำส้มสายชู ให้รสชาติอร่อยกลมกล่อม รายการอาหารที่ได้จากมดแดงและไข่มดแดง ได้แก่ ยำไข่มดแดง ก้อยไข่มดแดง ห่อหมกไข่มดแดง ต้มยำปลาช่อนไข่มดแดง แกงขี้เหล็กไข่มดแดง ทอดไข่ยัดไส้ เป็นต้น 

6.2
ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ดังนี้

6.2.1
ใช้สูดดม แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย โดยใช้มดแดง นำมาขยำแล้ว สูดดม

6.2.2
แก้ท้องร่วง ใช้เนื้อไก่พื้นบ้าน นำส่วนที่เป็นเนื้อแหย่เข้าไปในรังมดแดง เมื่อมดแดงกัดได้ปริมาณมากดึงออกมาแล้วใช้มือขยำนำไปย่างไฟให้สุกรับประทานขณะที่ยังร้อน อาการท้องร่วงจะบรรเทาและหายไป

6.2.3
แก้ท้องผูก นำมดแดงมาต้มใส่น้ำสะอาด ประมาณ 1 – 2 ถ้วย พอเดือด ยกลงแต่งรสโดยใช้เกลือพอเหมาะ กรองด้วยผ้าขาวบาง ดื่มทันที อาการท้องผูกจะหาย

6.2.4
ใช้ลบรอยไฝหรือขี้แมลงวัน โดยจับเอาตัวมดแดงกัดตรงเม็ดไฝ ให้มันเยี่ยวใส่ ถ้าไฝเม็ดโต ให้กัดหลายตัวพร้อมกัน ด้วยฤทธิ์ของน้ำกรด ไฝจะบวมและเปื่อยละลายเอาสีดำไหลออกมา เมื่อแผลหายจะไม่ปรากฏเม็ดไฝอีกต่อไป มีเพียงรอยแผลเป็นเล็กน้อยเท่านั้น

6.2.5 
ใช้แก้โรควูบ นำรังมดแดงร้างที่เกิดจากต้นคูณ มาใส่หม้อนึ่งต้มให้เดือดแล้วใช้ผ้าคลุมศีรษะอังกับไอน้ำเดือด สูดเอาไอร้อน ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรควูบจะมีอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุด

6.3
ใช้กำจัดศัตรูพืช ต้นผลไม้ต่างๆ ตลอดทั้งพืชผัก เช่น บวบ ถั่วฝักยาว แตงร้าน หากมีมดแดงอาศัยอยู่ จะปราศจากหนอน แมลง เพลี้ย รบกวน เนื่องจากมดแดงจะจัดการนำไปเป็นอาหารจนหมดสิ้น ต้นมะม่วงที่มีปัญหาเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยแป้งในต้นมะขาม หากนำมดแดงไปเลี้ยงเอาไว้ จะหมดปัญหาไป ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนการกำจัดศัตรูพืชและปลอดสารพิษด้วย

6.4
ให้ความเพลิดเพลิน ผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคน จะมีความเพลิดเพลิน ไม่เคร่งเครียด มดแดงจะช่วยผ่อนคลาย ทำให้เกิดคุณธรรมที่ได้จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรม การดำรงชีวิตของ มดแดงอยู่เสมอ มดแดงให้ข้อคิด คติและสัจธรรมแก่เรามากมายหลายประการ ซึ่งผู้ที่เลี้ยงมดแดงทุกคนจะสัมผัสได้ 

7.
ข้อพึงระวังจากมดแดง
แม้ว่ามดแดง จะมีประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว มดแดงก็ยังมีสิ่งที่พึงระวังอยู่บ้าง
ดังรายละเอียด ต่อไปนี้
7.1
กัดเจ็บ แต่ไม่เป็นอันตราย

7.2 เยี่ยวของมดแดงซึ่งเป็นกรด หากเข้าตาจะปวดแสบ ปวดร้อนวิธีแก้ไข ใช้น้ำลายป้ายตาจะหายทันที

7.3
เสื้อผ้าที่ถูกน้ำกรดจากมดแดง จะซีดด่าง ขาดความสวยงาม

7.4
ก่อความรำคาญ ในกรณีที่มดแดงไต่เข้าไปหาอาหารในบ้านเรือน อาจเข้าใจผิดว่า มดแดงก่อความรำคาญ แท้จริงแล้วมดแดงไปหาอาหารเพื่อนำไปป้อนลูกอ่อนของมันนั่นเอง หากจัดที่ให้น้ำ ให้อาหารและนำอาหารวางไว้ที่ต้นไม้ที่มันสร้างรังอยู่ มดแดงจะไม่เข้ามารบกวนเราเลย ข้อสังเกต มดแดงจะสร้างรังที่ต้นไม้เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการสร้างรังในบ้านเรือนของคนเรา 

8.
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมดแดง
มดแดง นอกจากจะมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับสัตว์จำพวกแมลงประเภทอื่นๆ แล้ว ยังมีความสัมพันธ์กับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เรามาช้านานแล้ว โดยได้สนับสนุนปัจจัยทั้ง 4 ประการที่จำเป็นในการดำรงชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ ด้านอาหาร ได้แก่ ไข่มดแดงเป็นอาหารที่คนอีสานนิยมบริโภค ด้านยารักษาโรค มดแดงถือเป็นสมุนไพร เช่น ใช้มดแดงมาขยำแล้วสูดดม แก้ลมวิงเวียนได้ นอกจากนั้น มดแดง ยังเป็นแมลงที่ช่วยสร้างความสมดุล ให้แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศ ตลอดทั้ง ได้นำเอาวิถีชีวิตของมดแดงมาเปรียบเทียบกับคุณธรรม เพื่อสั่งสอนเราได้ดีอีกด้วย ดังคำประพันธ์ที่ว่า
มดเอ๋ย มดแดง เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน... เป็นต้น

การเลี้ยงมดแดง

3.1 การเตรียมสถานที่
การเตรียมความพร้อมของสถานที่ที่จะเลี้ยงมดแดง นับเป็นขั้นตอนแรก เราคงทราบแล้วว่า มดแดงชอบสร้างรังบนต้นไม้ที่ยังมีชีวิต เพราะต้องอาศัยใบไม้นั่นเอง ต้นไม้ที่มดแดงชอบสร้างรัง ได้แก่ ต้นไม้ที่มีใบหนา อ่อนนุ่ม เป็นมันวาว ใบดก ไม่ผลัดใบง่าย เช่น ต้นหว้า สะเม็ก ชมพู่ จิก รัง มะม่วง ลำไย เป็นต้น
เมื่อได้ต้นไม้ที่จะทำการเลี้ยงมดแดงแล้ว ประการสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้เลี้ยงมดแดงจะต้องทำ คือ ตรวจดูต้นไม้เหล่านั้นว่า มีมดดำ หรือ มดไฮ อาศัยอยู่หรือไม่ เพราะมดดำและมดไฮ เป็นศัตรูของมดแดง ถ้าพบว่ามีมดดังกล่าวอาศัยอยู่ ควรพ่นด้วยน้ำสะเดา หรือพ่นน้ำตะไคร้หอม ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่ใช้กำจัดมดได้ เพื่อให้มดดำหรือมดไฮหนีไปที่อื่น จึงสามารถนำ มดแดงมาเลี้ยงได้

3.2
การจัดทำที่ให้น้ำ ให้อาหารแก่มดแดง
เมื่อเตรียมสถานที่พร้อมต่อการที่จะเลี้ยงมดแดงแล้ว ก่อนที่จะนำมดแดงมาปล่อยเลี้ยง ควรจัดที่ให้น้ำ ให้อาหารแก่มดแดง ติดตั้งล่วงหน้าเอาไว้เสียก่อน โดยใช้วัสดุที่เหลือใช้ หรือที่พอหาได้ในท้องถิ่น ซึ่งมีวิธีการทำ ดังนี้

1.
ที่ให้อาหาร จัดหาวัสดุเหลือใช้ เช่น กะลามะพร้าว ไม้ไผ่ผ่าซีก ใบไม้แห้ง หรือแผ่นตะแกรงลวดตาถี่ นำมาดัดแปลงตามความเหมาะสม ควรเป็นวัสดุที่ไม่ขังน้ำ เพื่อป้องกันอาหารเน่าเสียใช้ตะปูตอกวัสดุดังกล่าวติดกับต้นไม้ให้สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 เมตร แล้วนำอาหารเช่นแมลง เศษเนื้อ เศษปลา ก้างปลา กระดูกไก่ มาวางไว้ มดแดงจะทยอยกันมา กัด แทะ เล็ม และคาบไปสะสมเป็นอาหารต่อไป




2.
ที่ให้น้ำ
ที่ให้น้ำมดแดงนั้นมีความสำคัญกว่าที่ให้อาหาร เนื่องจากมดแดงชอบกินน้ำมาก จะเห็นได้จากมดแดงตามธรรมชาติ มักสร้างรังอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ลำห้วย หนองน้ำ เพื่อการดำรงชีวิตของมัน วัสดุที่ใช้จัดทำที่ให้น้ำมดแดง ควรเป็นวัสดุเหลือใช้ ที่หาได้ในท้องถิ่นเช่นเดียวกับที่ให้อาหาร เช่น กะลามะพร้าว กระป๋องนม กระบอกไม้ไผ่ผ่าซีก ขวดน้ำพลาสติก ฯลฯ นำมาดัดแปลงตอกติดกับต้นไม้ สูงจากพื้นดินไม่เกิน 1.50 เมตร บรรจุน้ำ และนำกิ่งไม้หยั่งเอาไว้ มดแดงจะทยอยเดินทางมากินน้ำตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าที่ให้น้ำมดแดงสกปรก ควรล้างทำความสะอาดอยู่เสมอ




*การดูแลและให้อาหารอาหาร จะเป็นการให้เศษอาหารและทำการเปลี่ยนน้ำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง คอยดูแลเรื่องมดดำที่เป็นศัตรูสำคัญของมดแดงเพราะถ้ามีมดดำมาก มดแดงจะหนี  ราคาขายไข่มดแดงประมาณ 200-250 บาท /กก.*

วัสดุ-อุปกรณ์การเลี้ยงมดแดงนอกฤดู

1.ขวดน้ำอัดลมพลาสติกขนาดใหญ่ 1.25 ลิตร พร้อมฝา จำนวน 5-10 ขวด
2.เชือกด้ายสีแดง (ไนล่อน) และสีเหลือง ความหนาขนาดเชือกว่าว ยาวตามความต้องการ
3.กิ่งไม้ ความยาว 1 ฟุต 10-20 อัน เพื่อทำเป็นสะพานทางลงไปกินน้ำและ อาหาร
4.ลวดขนาดยาว 1-2 ฟุต หรือตามขนาดรอบวงของต้นไม้ 5-10 ขด
5.เศษอาหาร พวกกระดูก ก้างปลาหัวปลา ปู กุ้ง เศษอาหารอื่นที่หาได้ น้ำ
6.มีดเล็ก คัทเตอร์ คีมตัดลวด ถุงปุ๋ยพร้อมเชือกฟางมัดถุง
7. สายยางพร้อมหัวฉีดเพื่อฉีดน้ำแบบสปริงเกอร์

ขั้นตอนวิธีการทำ

1.สังเกตดูบริเวณป่าที่จะเลี้ยงมดแดงจะต้องมีต้นไม้อย่างน้อย 5 - 10 ต้น เป็นไม้ผล หรือไม้พื้นเมืองก็ได้ มดแดงจะชอบอยู่อาศัยพื้นที่ป่าและพื้นที่ที่มีต้นไม้ใบอ่อน
2.ตัดขวดน้ำอัดลมพลาสติก โดยแบ่งครึ่ง 2 ส่วนล้างน้ำให้สะอาด นำมาเจาะจำนวน 2 รู เพื่อทำการผูกลวดใส่กับต้นไม้
3.ส่วนที่มีฝาขวดใช้ใส่อาหารเพราะถ้ามีน้ำขังสามารถเปิดฝาให้น้ำระบายออกได้
4.ส่วนที่เป็นก้นขวดให้ใส่น้ำ และนำกิ่งไม้ใช้เชือกผูกกับต้นไม้เป็นทางลงโดยหย่อนพาดลงในขวดที่ตัดใส่น้ำและอาหาร
5.ขึงเชือกโดยผูกติดกับต้นไม้และผูกโยงเชือกระหว่างต้นไม้เป็นถนนเส้นทางเดินไปมาของมดระหว่างต้นไม้
6.การเลี้ยงหลังจากจัดเตรียมเส้นทางและเลือกต้นไม้ไว้แล้วให้ไปหารังมดแดงนอกพื้นที่ไกลๆยิ่งดี เพื่อไม่ให้เกิดเลือดชิดเพราะถ้าเลือดชิดจะทำให้การเกิดไข่น้อย
7.หลังจากที่เลือกได้รังมดแดงแล้วให้ทำการตัดรังมดแดงใส่ในถุงปุ๋ยรังละถุง
8.นำรังมดแดงที่ตัดมาได้เอาปล่อยในตอนเย็น โดยมัดถุงปุ๋ยที่ใส่มดแดงไว้กับต้นไม้ตอนเช้าค่อยให้น้ำและอาหารที่เตรียมไว้ในขวดน้ำอัดลมที่มัดติดต้นไม้มดแดงก็จะไต่ออกมาและสร้างรังใหม่เอง

เทคนิคการเลี้ยงนอกฤดู

         คือ ให้ติดสปริงเกอร์ ตลอดแนวราวเลี้ยงมดแดง เพื่อฉีดน้ำในช่วงที่ฝนไม่ตกหรือฤดูร้อนเพื่อหลอกว่าเป็นช่วงฤดูฝน  โดยที่ในช่วงเดือนมีนาคม เริ่มให้น้ำโดยการใช้น้ำฉีดจากสายยางหรือสปริงเกอร์ที่ติดตั้งไว้  จากนั้นให้อาหารตามปกติ ประมาณอีก 1 เดือน เริ่มมีไข่สามารถเก็บจำหน่ายได้
        วิธีการสังเกตว่ามดแดงรังไหนสามารถเก็บได้คือ ให้ดูจากรังว่าใหญ่หรือไม่ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ให้สังเกตว่าที่รังมดแดงเป็นฝ้าหรือไม่ ถ้าเป็นฝ้าสีขาวขึ้นตามขอบรังแสดงว่าเก็บมดแดงได้

วิธีการเก็บ
         ใช้ท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว 2 ท่อน ต่อกัน แล้วตัดปลายเป็นปากฉลามเพื่อไว้แหย่รังมดแดงเพื่อกันรังมดแดงแตก  ส่วนภาชนะที่ใช้เก็บควรใช้ถุงพลาสติกแบบหูหิ้วมัดปลายท่อพีวีซีเพื่อเก็บไข่ที่แหย่ลงมา และเป็นการป้องกันมดกัดด้วยเพราะท่อพีวีซีและถุงลื่นมดไม่สามารถขึ้นมาเกาะผู้เก็บได้

4 ความคิดเห็น :

Translate

Popular Posts