อาหารไก่พื้นบ้าน
ปกติแล้วการเลี้ยงไก่พื้นบ้านมักจะปล่อยให้ไก่หาอาหารกินเองตามมีตามเกิด หรือตามธรรมชาติ โดยที่ผู้เลี้ยงอาจมีการให้อาหารเพิ่มเติมบ้างในช่วงตอนเช้า หรือตอนเย็นอาหารที่ให้ก็เป็นพวกข้าวเปลือก ปลายข้าว หรือข้าวโพด เป็นต้น จากสภาพการเลี้ยงดูแบบนี้ทำให้ความสมบูรณ์ของไก่ผันแปรไปตามสภาพดินฟ้าอากาศ คือ ในช่วงฤดูฝน ไก่จะมีอาหารค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากได้รับทั้งเมล็ดวัชพืชและหนอนแมลงในปริมาณมาก ซึ่งอาหารทั้งสองชนิดนี้เป็นแหล่งของไวตามินและโปรตีนที่สำคัญ ตามธรรมชาติ ทำให้ไก่ในฤดูกาลนี้มีการเจริญเติบโตและความแข็งแรงมากกว่าไก่ในฤดูอื่น ๆ ส่วนในฤดูเก็บเกี่ยว และนวดข้าว ไก่ก็มีโอกาสที่จะได้รับเศษอาหารที่ตกหล่นมาก ทำให้ไก่มีสภาพร่างกายอ้วนท้วนสมบูณ์พอสมควร ส่วนในฤดูแล้งมักจะประสพปัญหาไก่ขาดแคลนอาหารตามธรรมชาติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องน้ำซึ่งมักจะขาดอยู่เสมอ จำเป็นต้องเตรียมไว้ให้ไก่ด้วย หลักในการให้อาหารไก่พื้นบ้านมีดังต่อไปนี้
- ควรซื้อหัวอาหารเพื่อเอามาผสมกับอาหารที่ผู้เลี้ยงมีอยู่เช่น ผสมกับปลายข้าว หรือรำเป็นต้น อาหารผสมนี้ใช้เลี้ยงไก่โดยเฉพาะอย่างยิ่งไก่เล็ก จะทำให้ไก่ที่เลี้ยงโตเร็วและแข็งแรง
- การใช้เศษอาหารมาเลี้ยงไก่ควรคำนึงถึงความสะอาดและสิ่งแปลกปลอมที่เป็นพิษต่อไก่ด้วย
- ถ้าเป็นไปได้ควรเสริมเปลือกหอยป่นในอาหารที่ให้ไก่กินจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเปลือกไข่บางและปัญหาการจิกกินไข่ของแม่ไก่
- ควรนำหญ้าขนหรือพืชตระกูลถั่วบางชนิดเช่น ถั่วฮามาต้า ใบกระถิน หรือเศษใบพืชต่าง ๆ เช่น ใบปอ ใบมัน เป็นต้น นำมาสับให้ไก่กินจะทำให้ไก่ได้รับไวตามินและโปรตีนเพิ่มมากขึ้น
- การใช้แสงไฟล่อแมลงในตอนกลางคืน นำแมลงนั้นมาเป็นอาหารไก่จะทำให้ไก่ได้อาหารโปรตีนอีกทางหนึ่งนอกจากนี้ยังเป็นการช่วยทำลายแมลงศัตรูพืชอีกด้วย
- ควรมีภาชนะสำหรับใส่อาหารและน้ำโดยเฉพาะ โดยทำจากวัสดุต่าง ๆ ที่หาได้ เช่นยางรถยนต์ หรือไม้ไผ่ ภาชนะสำหรับให้น้ำและอาหารควรวางให้สูงระดับเดียวกับหลังของตัวไก่และใส่อาหารเพียง 1 ใน 3 ก็พอเพื่อให้หกเรี่ยราด สำหรับน้ำนั้นควรใช้น้ำที่สะอาดให้ไก่ดื่มกินตลอดเวลา ส่วนอาหารอาจจะให้เฉพาะตอนเช้า และเย็นเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นให้ไก่หาอาหารกินเอง
- สำหรับอาหารลูกไก่ ควรเป็นอาหารที่ละเอียด ย่อยง่าย และให้ทีละน้อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการย่อยอาหารของลูกไก่ต้องทำงานหนักเกินไป
- ในช่วงการให้ไข่และฟักไข่ของแม่ไก่ ควรมีอาหารเสริมเป็นพิเศษสำหรับแม่ไก่ซึ่งจะช่วยให้แม่ไก่แข็งแรงไม่ทรุดโทรมเร็ว และไม่ต้องไปหากินไกล ๆ
- ในระยะการกกลูกไก่ในคอกนั้น จำเป็นต้องซื้ออาหารสูตรผสม (อาหารไก่เล็ก) ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมาให้ลูกไก่กิน การให้อาหารพวกปลายข้าว
- ข้าวเปลือกหรือรำ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือให้รวมกันจะไม่ได้ผล เพราะจะทำให้ลูกไก่แคระแกรน ไม่แข็งแรง และตายในที่สุด
- ดังนั้นจึงควรหาซื้ออาหารสูตรผสมที่มีโปรตีนเมื่อพ้นระยะการกกแล้วใน
- ช่วงเวลากลางวันก็สามารถปล่อยให้ไก่ออกหาอาหารตามธรรมชาติบ้าง ในช่วงก่อนค่ำก็ไล่ไก่เข้าคอกและควรให้อาหารสูตรสำเร็จเสริมให้ไก่ หรือจะให้เศษอาหารที่เหลือ หรือพวกปลายข้าว รำข้าว ก็ได้
- ในกรณีที่เลี้ยงไก่จำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือแหล่งอาหารตามธรรมชาติว่ามีเพียงพอต่อจำนวนไก่หรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็ควรซื้ออาหารสูตรผสมให้กินเสริมด้วย มิเช่นนั้นจะพบว่าไก่ที่เลี้ยงจะผอม ไม่แข้งแรง และมักแสดงอาหารป่วยจนถึงตายในที่สุด
นอกจากการใช้สูตรอาหารสำเร็จมาใช้เลี้ยงไก่แล้ว ยังมีอาหารอีกรูปแบบหนึ่งที่มีจำหน่ายอยู่ในรูปเข้มข้น หรือเรียกกันว่าหัวอาหาร ซึ่งสามารถซื้อนำมาผสมกับวัตถุดิบในท้องถิ่นได้ เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด หรือมันสำปะหลังตากแห้ง เป็นต้น การผสมมักจะคำนึงถึงสูตรอาหารที่จะใช้ว่าจะเลี้ยงในระยะลูกไก่หรือไก่รุ่น เมื่อทราบอายุไก่ที่เลี้ยงแล้วก็นำหัวอาหาร และวัตถุดิบที่มีอยู่มาผสมกันตามสัดส่วนที่คำนวณไว้ดังตัวอย่างเช่น ถ้าหัวอาหารประกอบด้วยโปรตีน 42 เปอร์เซ็นต์ จะนำมาผสมกับปลายข้าวที่ประกอบด้วยโปรตีนประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำเป็นสูตรอาหารให้ได้โปรตีน 19 เปอร์เซ็นต์
เพื่อใช้เลี้ยงลูกไก่ การผสมแบบนี้สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ ดังนี้
ขั้นตอนการคำนวณ คือ
- หาความแตกต่างระหว่างเปอร์เซ็นต์โปรตีนของหัวอาหารกับเปอร์เซ็นต์โปรตีนของสูตรอาหารที่ต้อง การผสมในกรณีนี้คือ 42-19 ได้ผลลัพธ์เท่ากับ 23
- หาความแตกต่างระหว่างเปอร์เซ็นต์โปรตีนของปลายข้าวกับเปอร์เซ็นต์โปรตีนของสูตรอาหารที่ต้องการผสม คือ 19-8 ซึ่งจะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 11
- จากข้อ 1 และข้อ 2สรุปผลได้ดังนี้คือ ถ้าเรานำหัวอาหาร จำนวน 11 ส่วน มาผสมกับปลายข้าว จำนวน 23 ส่วน เราก็สามารถผสมสูตรอาหารไก่ที่ประกอบด้วยโปรตีน ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ได้
อาหารไก่พื้นบ้าน 2
ก่อนอื่นเกษตรกรต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ไก่ต้องการอาหารเพื่อใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หายใจ เดิน วิ่ง และการกินอาหาร ใช้ในการสร้างกระดูก เนื้อ หนัง ขน เล็บ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ใช้ในการสร้างไข่ และผลิตลูกไก่ ดังนั้น การที่ไก่จะเจริญเติบโตดี มีความแข็งแรง และให้ไข่มาก ไก่ จะต้องได้กินอาหารเพียงพอ และได้กินอาหารดี โดยสม่ำเสมอทุกวัน ไก่ต้องการอาหารประเภทใดบ้าง ความต้องการอาหารของไก่คล้ายกับคนมาก ไก่ต้องการอาหารทั้งหมด 6 อย่าง คือ
- อาหารประเภทแป้ง เพื่อนำไปสร้างกำลัง ใช้ในการเดิน การวิ่ง อาหารประเภทนี้ได้จากรำ ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวเปลือก กากมันสำปะหลัง
- อาหารประเภทเนื้อ เพื่อนำไปสร้างขน เล็บ เลือด เนื้อหนัง อาหารประเภทนี้ได้จากแมลง ไส้เดือน ปลา ปลาป่น
- อาหารประเภทไขมัน นำไปสร้างความร้อนให้ร่างกาย อบอุ่นได้จากกากถั่ว กากมะพร้าว ไขสัตว์ น้ำมันหมู กากงา
- อาหารประเภทแร่ธาตุ ไก่ต้องการอาหารแร่ธาตุไปสร้างกระดูก เลือด และเปลือกไข่ แร่ธาตุต่าง ๆ ได้จากเปลือกหอยป่น กระดูกป่น
- อาหารประเภทไวตามิน สร้างความแข็งแรง และกระปรี้กระเปร่าแก่ร่างกาย สร้างความต้านทานโรค และ บำรุงระบบประสาท มีในหญ้าสด ใบกระถิน ข้าวโพด รำข้าว ปลาป่น
- น้ำ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดต่อร่างกาย ถ้าขาดน้ำไก่จะตายภายใน 24 ชั่วโมง ต้องมีน้ำให้ไก่กินตลอดเวลา การปล่อยให้ไก่หาอาหารเองตามธรรมชาติจนเคยชิน ทำให้เกษตรกรเข้าใจว่าไก่กินรำและปลายข้าวและอาหารตามธรรมชาติก็ เป็นการเพียงพอแล้วแต่การที่จะเลี้ยงไก่ให้ได้ผลดีนั้นเกษตรกร
จะต้องให้การเอาใจใส่เรื่องอาหารและน้ำให้มากขึ้นโดยวิธีการง่ายๆ ดังนี้
- ให้น้ำสะอาดตั้งไว้ให้ไก่กินตลอดวัน และคอยเปลี่ยนน้ำทุกๆ วัน
- ให้อาหารผสมทุกเช้าเย็นเพิ่มเติมจากอาหารที่ไก่หากินได้ตามปกติ
- ให้อาหารไก่หลาย ๆ ชนิดผสมกัน เช่น ปลายข้าว รำข้าว ข้าวโพดป่น ปลาป่น ข้าวเปลือก กากถั่ว กากมะพร้าว หัวอาหารไก่สำเร็จรูปชนิดเม็ดหรือชนิดผง
- มีเปลือกหอยป่นผสมเกลือป่นตั้งทิ้งไว้ให้ไก่กินตลอดเวลา
- ให้หญ้าสด ใบกระถิน หรือผักสดให้ไก่กินทุกวัน
- ในฤดูแล้ง ไก่มักจะขาดหญ้ากินเกษตรกรควรปลูกกระถินไว้บริเวณใกล้ๆ คอก วิธีปลูกนั้นให้นำเมล็ดกระถินมาลวกด้วยน้ำร้อนนาน 2 ถึง 3 นาที แล้วนำไปแช่น้ำเย็น เสร็จแล้วจึงนำไปเพาะในดินใส่ถุงพลาสติก จนกระทั่งต้นกระถินสูงประมาณ 1 เมตร
- จึงย้ายไปปลูกเป็นแถวหรือแนวรั้ว เมื่อต้นกระถินติดดีแล้ว ควรตัดให้ต้นต่ำ ๆ เพื่อไก่จะได้กินถึงหรือจะคอยตัดให้ไก่กินก็ได้ นอกจากนั้นเราอาจเพาะข้าวเปลือกหรือถั่วเขียวให้ไก่กินก็ได้ การเพาะถั่วเขียวให้เอาเมล็ดถั่วเขียวแช่เย็นไว้ 12 ชั่วโมง ล้างใส่ไหคว่ำไว้หมั่นรดน้ำทุก 2-3 ชั่วโมง พอครบ 3 วันก็เอาออกให้ไก่กินได้ ถั่วเขียว 4 กระป๋องนมให้แม่ไก่กินได้ประมาณ 100 ตัว
- การใช้หัวอาหารไก่สำเร็จรูปผสมลงในรำข้าวหรือปลายข้าวเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด เนื่องจากเกษตรกรสามารถหาซื้อได้ง่ายและผสมได้สะดวกเป็นวิธีที่จะเสริมให้ไก่เจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น
- การสังเกตว่าไก่ได้อาหารเพียงพอหรือไม่ให้ดูว่าในระยะแรกที่ให้อาหารไก่จะรีบกินและมีการแย่งกัน ถ้าไก่กินอาหารไปเรื่อย ๆ และเลิกแย่งกันกินอาหารช้าลง มีการคุ้ยเขี่ย แสดงว่าไก่ได้กินอาหารเพียงพอแล้ว
0 ความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น