Home » » โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) (การเลี้ยงไก่ชน)

โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) (การเลี้ยงไก่ชน)

โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)



โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza) เป็น โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Avian Influenza virus type A ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดมีเปลือกหุ้ม โดยมี surface antigens ที่สำคัญ ได้แก่ haemagglutinin (H) มี ๑๕ ชนิด และ neuraminidase (N) มี ๙ ชนิด เชื้อไวรัส Influenza แบ่งเป็น ๓ type ได้แก่
Type A แบ่งย่อยเป็น ๑๕ subtype ตามความแตกต่างของ H และ N antigen พบได้ในคนและสัตว์ต่างๆ เช่น สุกร ม้า และสัตว์ปีกทุกชนิด
Type B ไม่มี subtype พบเฉพาะในคน
Type C ไม่มี subtype พบเฉพาะในคนและสุกร

อาการ

โรคไข้หวัดนก อาการที่แสดงนั้นมีความผันแปรตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัส และสัตว์ที่ได้รับเชื้อ สัตว์อาจจะไม่แสดงอาการป่วย แต่จะมีระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้น (Seroconverion) ภายใน 10-14 วัน จึงสามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรค สัตว์อาจจะแสดงอาการดังนี้
กินอาหารลดลง ปริมาณไข่ลดในไก่ไข่ นอกจากนี้อาจจะมีอาการ ไอ จาม ขนร่วง มีไข้ หน้าบวม ซึม ท้องเสีย ในรายที่มีอาการติดเชื้อรุนแรงอาจตายกระทันหัน ซึ่งมีอัตราตายสูง ๑๐๐%
ไวรัสชนิดนี้จะไม่ทำให้เป็ดป่วย แต่อาจทำให้สัตว์ปีกชนิดอื่นๆ ป่วยได้ เช่น ไก่งวง

แหล่งของไวรัส

สัตว์ปีกทุกชนิดมีความไวต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สามารถที่จะแยกเชื้อได้จากนกน้ำ รวมทั้ง นกชายทะเล นกนางนวล ห่าน และนกป่า เป็ดป่าสามารถที่จะนำเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยที่จะไม่แสดงอาการป่วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นแหล่งรังโรคที่สำคัญในสัตว์ปีก
ความเสี่ยงของการระบาดโรคไข้หวัดนกจากนกน้ำ โรคไข้หวัดนกมีการระบาดในนกป่าและเป็ด นกน้ำเป็นแหล่งของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ไก่งวงยังเป็นแหล่งกักโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกได้ ความเสี่ยงของไก่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่มีโอกาสสัมผัสกับนกน้ำเป็นความเสี่ยงสูง แต่ยังไม่ทราบว่าปัจจัยใดที่ส่งผลให้การระบาดไม่แน่นอนในแต่ละพื้นที่นั้น

วิธีติดต่อของโรค

  1. การติดต่อของโรคจากการสัมผัสกับอุจจาระ เป็นวิธีติดต่อที่สำคัญระหว่างนกด้วยกัน นกป่าจะ เป็นตัวนำเชื้อไวรัสไข้หวัดนกไปยังนกในโรงเรือนที่เปิดได้ โดยผ่านทางการปนเปื้อนของอุจจาระ
  2. การติดเชื้อโดยทางการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนเชื้อโรค (Mechanical Transmission) มูลของนกเป็นแหล่งของเชื้อไวรัสที่สำคัญ การขับเชื้อไวรัสทางมูลเป็นเวลา ๗๑๔ วัน หลังการติดเชื้อ แต่ไม่พบเชื้อไวรัสในสิ่งปูรองได้ในระยะเวลานานถึง ๔ สัปดาห์หลังการติดเชื้อ ไวรัสสามารถจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง ๑๐๕ วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง ดังนั้น วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ คน และสัตว์ เช่น นกป่า หนู แมลง นกกระจอก จึงเป็นปัจจัยในการกระจายของโรคได้
  3. การติดเชื้อจากการหายใจเอาสิ่งคัดหลั่งของตัวป่วย ก็เป็นได้
  4. ไวรัสไข้หวัดนกสามารถพบในเปลือกไข่ชั้นในและชั้นนอก อย่างไรก็ตาม การติดต่อจากแม่ไก่ผ่านมายังลูกไก่ทางไข่ (Vertical transmission) ยังไม่มีการรายงาน ส่วนการติดโรคผ่านไข่ไปยังฟาร์มอื่นนั้นมักเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อที่เปลือกไข่ หรือถาดไข่ และจัดเป็นการติดต่อที่สำคัญวิธีหนึ่ง

การติดต่อโรค จากสัตว์ปีกมาสู่คน

การติดต่อโรคนี้จากสัตว์ปีกมาสู่คน เป็นไปได้ยาก จากข้อมูลการเกิดโรคในคนที่ประเทศฮ่องกง และประเทศอื่นๆ พบว่าเป็นการติดต่อโดยตรงจากตัวสัตว์ปีกมีชีวิต ไม่มีรายงานการติดต่อมายังคน โดยการบริโภคเนื้อไก่ และ ไข่ มาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของโรค โรคไข้หวัดนก ในฟาร์มที่มีโรคระบาด ประกอบด้วย ๓ หลักการที่สำคัญ คือ
  1. การป้องกันการกระจายของเชื้อ
    1. ไม่ให้มีการนำสัตว์ปีกเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีการระบาดของโรคภายหลังจากการกำจัดสัตว์ป่วย ในระยะเวลา ๒๑ วัน
    2. กำจัดวัชพืชรอบโรงเรือน และกำจัดสิ่งปูรองตลอดจนอาหารของสัตว์ป่วยนั้น
    3. มีโปรแกรมควบคุมพาหะของโรค เข่น แมลง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หนู และนก เนื่องจากสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวนำพาเชื้อโรคจากอุจจาระของสัตว์ป่วยไปยังที่ต่างๆได้
    4. ป้องกันการสะสมของแหล่งน้ำภายในฟาร์ม ซึ่งเพิ่มปริมาณของนกที่เคลื่อนย้ายเข้ามา และมีโอกาสเป็นสื่อให้การแพร่กระจายของโรคขยายวงออกไป
    5. จำกัดแหล่งอาหารซึ่งเป็นปัจจัยให้นกเคลื่อนย้ายมาอาศัย
    6. ให้ความรู้พนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังที่ต่างๆ
  2. การควบคุมการเคลื่อนย้าย
    1. จัดระบบควบคุมการเข้า-ออกฟาร์มของบุคคลภายนอกและบุคคลภายในฟาร์ม
    2. ลดการเคลื่อนย้ายระหว่างภายในฟาร์มและภายนอกฟาร์ม โดยใช้ระบบสื่อสารทางโทรศัพท์และโทรสาร
    3. ให้ใช้มาตรการทำลายเชื้อโรคคนที่เข้า-ออกฟาร์ม
    4. ไม่อนุญาตให้พนักงานขับรถยนต์ พนักงานขนส่งเข้า-ออกฟาร์มโดยที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
  3. การรักษาสุขอนามัย
    1. ใช้ยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรค และควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนอุจจาระไปกับรถหรือยานพาหนะ
    2. ล้างวัสดุ อุปกรณ์และยานพาหนะด้วยผงซักฟอก และยาฆ่าเชื้อ
    ยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการควบคุมและลดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสคือ
    1. Formaldehyde
    2. Iodine compound
    3. Quaternary ammonium compound
    4. สารที่เป็นกรด
    5. ความร้อน ๙๐ °C เวลา ๓ ชั่วโมง หรือ ๑๐๐ °C เวลา ๓๐ นาที
    6. ความแห้ง
มาตรการสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ หรือผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับสัตว์ในฟาร์มที่มีการระบาด โรงฆ่าสัตว์ปีก ผู้รับซื้อสัตว์ปีกซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดโรคนั้นควรปฏิบัติดังนี้
มาตรการสำหรับฟาร์มไก่พื้นเมือง
  1. ควบคุมการเข้า - ออก ของคน สัตว์ ไม่ให้ยานพาหนะและคน โดยเฉพาะรถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ รถรับซื้อขี้ไก่ รวมถึงคนรับซื้อไก่ ไข่ หรือ ขี้ไก่เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้าน
  2. งดซื้อไก่จากพื้นที่อื่นๆเข้ามาเลี้ยง
  3. รักษาความสะอาดในโรงเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อ ป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม
  4. ไม่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะเช่นแม่น้ำลำคลอง เลี้ยงไก่ หากจำเป็นให้ผสมยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน
  5. หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า ๕ เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ด้วย แล้วราดด้วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
  6. ก่อนเข้าไปในฟาร์ม สัมผัสสัตว์ป่วย ซากสัตว์ที่ตาย หรือทำลายสัตว์ ควรสวมผ้าพลาสติกกันเปื้อน ผ้าปิดปาก จมูก ถุงมือ หมวก หลังเสร็จงานรีบอาบน้ำด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้แล้ว พลาสติก หรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือต้องถอดทิ้ง หรือนำไปซักหรือล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้อีก
  7. ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาดโดยการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณฟาร์ม กรง เล้า พื้นคอก และรอบๆ เช้า เย็น ทุกวัน
มาตรการสำหรับฟาร์มไก่เนื้อและไก่ไข่
  1. ห้ามนำยานพาหนะต่างๆ โดยเฉพาะรถส่งอาหารไก่ รถรับซื้อไก่ รถรับซื้อไข่ หรือ รถรับซื้อขี้ไก่ เข้ามาในฟาร์ม หรือบริเวณบ้านโดยไม่จำเป็น หากต้องเข้าฟาร์มต้องใช้ยาฆ่าเชื้อโรคฉีดพ่นยานพาหนะทุกครั้งก่อนเข้า และออกจากฟาร์ม
  2. ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนคนที่เข้า-ออกฟาร์ม โดย
    • ห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโดยไม่จำเป็น
    • บุคคลที่ต้องเข้า-ออกฟาร์ม ต้องจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม และให้เปลี่ยนรองเท้า ของฟาร์มที่เตรียมไว้
    • ไม่ควรเข้าไปในฟาร์มอื่นเพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคจากฟาร์มอื่นเข้มาในฟาร์ม
  3. รักษาความสะอาดในโรงเรือน ทำโรงเรือนแบบปิด หรือใช้ตาข่ายคลุม และกำจัดเศษอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์อื่น ๆ รวมทั้งนก หนูเข้ามาในโรงเรือน เพราะอาจนำเชื้อโรคเข้ามาในฟาร์ม
  4. ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนไข่ และถาดไข่ในฟาร์มไข่ไก่โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่ไข่และถาดไข่ทุกครั้งที่นำเข้าฟาร์ม
  5. หากมีไก่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันทีเพื่อรับซื้อไก่ที่เหลือในฟาร์มและปฏิบัติตามคำแนะนำของปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อมาสู่สัตว์อื่น ไม่นำไก่ที่ป่วยหรือตายออกมาจำหน่าย อย่าทิ้งซากสัตว์ที่ตายลงในแหล่งน้ำ หรือที่สาธารณะ ต้องกำจัดทิ้งโดยการเผา หรือฝังในหลุมลึกไม่น้อยกว่า ๕ เมตร ณ จุดเกิดโรค รวมทั้งมูลไก่ ไข่ และอาหารสัตว์ แล้วราดด้วยด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
ผู้รับซื้อสัตว์ปีก
  1. ต้องฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ตัวรถ ล้อรถ และกรงใส่สัตว์ปีกให้ทั่วถึงทุกซอกทุกมุม หลังจากนำสัตว์ปีกส่งโรงฆ่าแล้ว
  2. เมื่อซื้อสัตว์ปีกที่ใดแล้ว ไม่ควรแวะซื้อที่อื่นอีก หากจำเป็นไม่ควรควรนำยานพาหนะเข้าไปในฟาร์ม และต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อที่เสื้อผ้า รองเท้าและตัวคนจับสัตว์ปีก
  3. อย่าซื้อสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือสัตว์ปีกจากฟาร์มที่มีสัตว์ปีกตายมากผิดปกติ
ผู้รับซื้อสัตว์ปีก
  1. ต้องงดซื้อสัตว์ปีกป่วยเข้าฆ่า
  2. ถ้ามีสัตว์ปีกตายให้ทำลายด้วยการฝัง เผา ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่บริเวณโรงฆ่า ทุกซอกทุกมุมหลังเสร็จสิ้นการฆ่าสัตว์ปีกทุกครั้ง
  3. หากพบสัตว์ปีกหรือเครื่องในมีความผิดปกติให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยเร็ว

วิธีการทำลายเชื้อ

สิ่งที่ต้องทำลายเชื้อ วิธีการทำลายเชื้อ
  1. ยานพาหนะ
    1. ใช้น้ำฉีดแรงดันสูงเพื่อทำความสะอาดยานพาหนะ
    2. พ่นยาฆ่าเชื้อบนรถและล้อรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มฟอร์มาลดีไฮด์ กลุ่ม กลูตาราลดีไฮด์ กลุ่มควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลุ่มฟีนอล หรือสารประกอบคลอรีน
  2. วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเรือน แช่อุปกรณ์ต่าง ๆ ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มคลอรีน กลุ่มควอเตอร์นารีแอมโมเนียม กลุ่มฟีนอลหรือกลุ่มกลูตาราลดีไฮด์
  3. โรงเรือน ฉีดพ่นบริเวณโรงเรือนและรอบโรงเรือนทุกวัน เช้า-เย็น ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเช่นเดียวกับที่ใช้ฉีดพ่นยานพาหนะ
  4. ถาดไข่
    1. แช่ถาดไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มน้ำสบู่เช้มข้น ผงซักฟอก สารประกอบคลอรีน สารประกอบควอเตอร์นารีแอมโมเนียมหรือสารประกอบฟีนอล เป็นระยะเวลานาน 10-30 นาที หรือ
    2. รมควันถาดไข่ในห้องแบบปิด หรือใช้ผ้าพลาสติกคลุม โดยใช้ฟอร์มาลีน 40 % ผสมกับด่างทับทิม ในอัตราส่วนฟอร์มาลีน 50 มล. ต่อ ด่างทับทิม 10 กรัม ในพื้นที่ขนาด 2 x 2 x 2 เมตร เป็นระยะเวลา 24 ชม.
  5. ไข่
    1. จุ่มไข่ในน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่มไฮโปคลอไรท์ หรือสารประกอบฟีนอล
    2. รมควันโดยใช้วิธีเดียวกับถาดไข่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทร. ๐๒-๖๕๓๔๔๔๔ ต่อ ๔๑๔๑ หรือ ๔๑๑๕
มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการทั่วไปสำหรับการควบคุมป้องกันโรคในสัตว์ปีก ที่เคยได้แนะนำเกษตรกรเมื่อเริ่มมีการระบาดของโรคมาแล้ว และต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดมากขึ้นในกรณีเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือ โทร. ๐๒-๖๕๓๔๔๔๔ ต่อ ๔๑๔๑ หรือ ๔๑๑๕
  1. หากพบว่าสัตว์ปีกเช่นไก่ เป็ด หรือนกที่เลี้ยงไว้ในบ้าน ป่วยตายอย่างรวดเร็วหรือ ผิดปกติมากกว่า 1 ตัวขึ้นไป หรือมีนกตกลงมาตายในบริเวณบ้านหรือใกล้บ้านที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีก ควรเก็บตัวอย่างซากสัตว์ที่ตายส่งตรวจหาสาเหตุการตาย โดยใส่ถุง พลาสติก 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น เก็บใส่ภาชนะแช่น้ำแข็งส่งห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคของกรมปศุสัตว์ที่อยู่ใกล้ที่สุด
  2. หากไม่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกอื่น ๆ ให้ทำการทำลายซากสัตว์ปีกดังกล่าว โดยการเผา หรือฝังในบริเวณที่พบสัตว์ตาย โดยขุดหลุมลึกพอประมาณที่สัตว์จะไม่สามารถคุ้ยซากขึ้นมาได้ ใส่ซาก สัตว์ปีกลงไป แล้วราดทับด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น น้ำคลอรีน หรือ ปูนขาว แล้วฝังกลบทับให้แน่น อาจใช้วัตถุหนักทับเพื่อความมั่นใจ
  3. ก่อนหยิบจับซากสัตว์ทุกครั้ง ต้องสวมผ้าปิดปาก จมูก สวมถุงมือ หรือใส่ถุงพลาสติก เพื่อป้องกันการสัมผัสกับซากสัตว์โดยตรง เมื่อฝังเสร็จให้ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด
  4. หลังการเก็บซากสัตว์แล้ว ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น จอบ เสียมด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือทำลายถุงมือ ผ้าปิดปาก จมูก ทิ้งโดยเผา หรือฝัง
สามารถส่งซากสัตว์วินิจฉัยโรคได้ที่
  1. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กทม. โทร 0-2589-7908-11
  2. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก (ชลบุรี) ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง ชลบุรี
  3. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (สุรินทร์)
  4. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ขอนแก่น) ต.ท่าพระ อ.เมือง จังหวัดขอนแก่น
  5. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก) อ.เมือง พิษณุโลก
  6. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาค เหนือตอนบน (ห้างฉัตร) อ.ห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
  7. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาค ตะวันตก (ราชบุรี) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จังหวัดราชบุรี
  8. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ (ทุ่งสง) อ.ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  9. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ 02-6534444 ต่อ 4141 หรือ 4115
ข้อมูล : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น

Translate

Popular Posts